2559-05-10

วิเคราะห์คุณค่าบทนมัสการมาตาปิตุคุณ

                                บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณ มีคุณค่า ๒ ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านเนื้อหา และคุณค่าด้านวรรณศิลป์
                ๑. คุณค่าด้านเนื้อหา ได้แก่ การลำดับความชัดเจน และการสอนจริยธรรม
                                ๑.๑ การลำดับความได้ชัดเจน บทนมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจาริยคุณ เป็นบทร้อยกรองขนาดสั้น มีการลำดับความที่ชัดเจน
                                บท นมัสการมาตาปิตุคุณ จำนวน ๕ บท มีการลำดับความชัดเจน ดังนี้
                                เกริ่นนำ                 ปรากฏในบทที่ ๑ กล่าวว่าขอไหว้คุณของบิดามารดาผู้เลี้ยงดูบุตรตั้งแต่
เล็กจนโต
                                เนื้อหา                   ปรากฏในบทที่ ๒, ๓ และ ๔ แสดงรายละเอียดว่าบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร
ด้วยความรักและเอาใจใส่ แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม ในบทที่ ๔ มีการใช้ความเปรียบเพื่อเน้นพระคุณของบิดามารดาว่ากว้างใหญ่เหมือนภูผา
                                สรุป                        ปรากฏในบทที่ ๕ เป็นการกล่าวย้ำถึงพระคุณบิดามารดา ซึ่งบุตรควรบูชา
                                บท นมัสการอาจาริยคุณ จำนวน ๕ บท มีการลำดับความชัดเจน ดังนี้
                                เกริ่นนำ                 ปรากฏในบทที่ ๑ กล่าวว่าขอน้อมไหว้ครูอาจารย์ผู้มรพระคุณ ซึ่งสั่งสอน
และให้ความรู้ศิษย์ทุกประการ
เนื้อหา                   ปรากฏในบทที่ ๒, ๓ และ ๔ แสดงรายละเอียดถึงหน้าที่ครูอาจารย์ซึ่ง
อบรมสั่งสอนศิษย์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งยังแสดงถึงจิตของครู
ที่ประกอบด้วยความเมตตาและความกรุณา
                                สรุป                        ปรากฏในบทที่ ๕ เน้นว่าครูอาจารย์มีพระคุณยิ่งนัก ศิษย์จึงควรบูชาและ
สำนึกในพระคุณ
                                ๑.๒ การสอนจริยธรรม เนื้อหาของบทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณ ทำให้นักเรียนสำนึกในพระคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์ นับเป็นการใช้บทประพันธ์เป็นสื่อเพื่อปลูกฝังจริยธรรมได้เป็นอย่างดี บิดามารดาเป็นบุคคลที่บุตรควรเคารพกราบไหว้มากที่สุด เพราะเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบโต ตลอดระยะเวลานั้นท่านต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก แต่ก็มิได้ทอดทิ้งบุตร ให้ความรักและเอาใจใส่บุตรเป็นอย่างดี บิดามารดาจึงเป็นบุคคลใกล้ชิดบุตรที่สุด บุตรที่ดีจึงควรสำนึกในพระคุณของท่าน ควรเคารพยกย่องและแสดงความกตัญญูต่อท่าน เริ่มจากการทำตัวเป็นคนดี เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านและตั้งใจเรียน
                                ครูอาจารย์เป็นบุคคลที่นักเรียนควรเคารพบูชาเช่นกันเพราะเป็นผู้ให้ความรู้แก่นักเรียน ทำให้เป็นคนฉลาด นอกจากนี้ ยังอบรมสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดี ซึ่งเป็นการให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ศิษย์ที่ดีจึงควรสำนึกในพระคุณของครูอาจารย์ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและเชื่อฟังครู
                                การสำนึกในพระคุณบิดามารดาและครูอาจารย์ แล้วปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้สังคมน่าอยู่ บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณจึงนับเป็นสื่อในการสอนจริยธรรมแก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี
                ๒. คุณค่าด้านภาษา การใช้ภาษาในบท นมัสการมาตาปิตุคุณ และบท นมัสการอาจาริยคุณ มีความดีเด่น ๒ ประการ ได้แก่ การเล่นเสียงสัมผัส และการสรรคำ
                                ๒.๑ การเล่นเสียงสัมผัส ในที่นี้มีทั้งการเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระ ดังนี้
                                สัมผัสพยัญชนะ คือ การใช้คำที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกันนำมาสัมผัสกันเพื่อให้เกิดความไพเราะ ตัวอย่างเช่น
                                ข้าขอนบชนกคุณ            เล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะได้แก่คำว่า ข้า ขอ และ คุณ , นบ กับ ชนก
                                ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน    เล่นเสียงพยัญชนะได้แก่คำว่า เทียบ เทียม และ ทัน
                                อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์     เล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะได้แก่ คำว่า (อนุ)สาสน์ สิ่ง และ สรรพ์
                                สัมผัสสระ คือ การใช้คำที่มีสระเหมือนกันนำมาสัมผัสกันเพื่อให้เกิดความไพเราะ ตัวอย่างเช่น
                                ผู้กอบนุกูลพูน                  เล่นสัมผัสสระคำว่า            (นุ)กูล กับ พูน
                                ตรากทนระคนทุกข์         เล่นสัมผัสสระคำว่า            ทน กับ (ระ)คน
                                ต่อพระครูผู้การุญ            เล่นสัมผัสสระคำว่า            นึก กับ ตรึก
                                ๒.๒ การสรรคำ ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำที่ไพเราะทั้งเสียงและความหมายได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นคำที่ง่าย สื่อความหมายชัดเจน ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพแจ่มชัด ดังนี้
                                ฟูมฟัก                                ทำให้เห็นภาพพ่อแม่ทะนุถนอม ประคับประคองเลี้ยงดูลูกด้วย
ความรักและเอาใจใส่อย่างดี
                                ตรากทนระคนทุกข์        เป็นคำที่ทำให้เห็นว่าพ่อแม่ต้องตรากตรำและอดทนทุกสิ่ง
ทุกอย่าง เพื่อเลี้ยงดูลูกให้เติบโต
                               
ถนอมเลี้ยง                        แสดงถึง การเลี้ยงดูลูกอย่างประคับประคองให้ดี เลี้ยงลูกด้วย
ความรักและความปรารถนาดี
                                บูชไนย                              แผลงมาจากปูชนีย แปลว่า ควรบูชา เพื่อแสดงว่าพ่อแม่เป็น
บุคคลที่ลูกควรบูชา
                                ขจัดเขลา                            คำนี้แสดงให้เห็นหน้าที่ของครูว่าต้องการทำให้ศิษย์ฉลาด
ปราศจากความไม่รู้เท่าทันในสิ่งต่างๆ
                                บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณเป็นผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตีพิมพ์รวมอยู่ในงานชุดภาษาไทย เล่ม ๒ ภาคเบ็ดเตล็ด มีเนื้อหาแสดงพระคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์ แต่งด้วยอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ มีคุณค่า ๒ ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านเนื้อหามีการลำดับความที่ชัดเจนเริ่มจากเกริ่นนำ เนื้อหาและสรุป และการสอนจริยธรรม คุณค่าด้านภาษา พบว่าใช้ภาษาที่งดงามมีวรรณศิลป์ ได้แก่ การเล่นเสียงสัมผัสและการสรรคำที่สื่อความหมายชัดเจน บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณนับเป็นสื่อในการปลูกฝังจริยธรรมแก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี

นิทานเวตาลเรื่องที่10

นิทานเวตาล 
เป็นฉบับพระนิพนธ์พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณมีที่มาจากวรรณกรรมสันสกฤตของอินเดีย  โดยเรื่องเดิมมีชื่อว่า  เวตาลปัญจวิงศติ  (Vetala Panchvim shati  แปลว่า  นิทาน ๒๕ เรื่องของเวตาล  (ปัญจะ = ๕,  วิงศติ = ๒๐)  ศิวทาสได้แต่งไว้แต่โบราณ  และโสมเทวะได้นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่และรวมไว้ในหนังสือชื่อ  กถาสริตสาคร (Katha - sarita - sagara)  ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒
                              ต่อมาในระหว่าง ค.ศ. ๑๗๑๙ - ๑๗๔๗  พระราชาแห่งกรุงชัยปุระโปรด ฯ ให้แปลนิทานเวตาลจากฉบับภาษาสันสกฤตเป็นภาษาอื่น ๆ อีก  และต่อมามีผู้นำมาแปลเป็นภาษาฮินดี  เรียกชื่อเรื่องว่า  ไพตาลปัจจีสี  (Baital Pachisi)  รวมทั้งยังมีการนำมาแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีกแทบทุกภาษา
ผู้แต่ง
พระราชวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ  (น.ม.ส.)
ลักษณะคำประพันธ์
นิทานร้อยแก้ว  มีบทร้อยกรองแทรกบางตอน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
ให้ความบันเทิง  และแทรกคติธรรม
ความเป็นมา
กรมหมื่นพิทยาลงกรณได้ทรงแปลนิทานเวตาลจากฉบับของเบอร์ตัน  จำนวน ๙ เรื่อง และจากฉบับแปลสำนวนของ ซี.เอช.ทอว์นีย์ อีก ๑ เรื่อง  รวมเป็นฉบับภาษาไทยของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ๑๐ เรื่อง  นิทานเวตาลมีที่มาจากวรรณกรรมของอินเดียทั้งที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต  มักปรากฏรูปแบบนิทานซ้อนนิทานอยู่เป็นจำนวนมาก นิทานเรื่องใหญ่ของนิทานเวตาลเหล่านั้นเป็นนิทานซึ่งแยกออกเป็น ๑๐ เรื่อง  มีต้นเรื่องและปลายเรื่องกำกับชี้แจงเหตุเกิดของเรื่อง  พฤติกรรมของเวตาลและข้อสรุปซึ่งเต็มไปด้วยสาระ  ความรู้  ความสนุกสนาน และยังมีบทร้อยกรองที่แฝงคติธรรมแทรกอยู่โดยตลอด
                                "ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้เกิดกระเหม่นตาซ้าย หัวใจเต้นแรงแลตาก็มืดมัวเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่ง  แลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมาเป็นหลายเที่ยวแล้ว  แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง  ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่อยากทูลตามสักที  ถ้าทรงตอบได้  พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาพระองค์ใด"
เรื่องย่อก่อนถึงนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐
เมื่อ ๒๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา  ณ เมืองอุชเชนี (อุชชยินี)  มีพระราชาทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่เลื่องลือ  ทรงพระนามว่า  พระวิกรมาทิตย์  ครั้งนั้นมีโยคีตนหนึ่งชื่อศานติศีลผูกอาฆาตพระราชบิดาของพระวิกรมาทิตย์และประสงค์ที่จะเอาชีวิตพระองค์แทน  ซึ่งพระวิกรมาทิตย์ทรงพระราชสมภพในวัน เดือน ปี และฤกษ์เดียวกันกับตนเพื่อเป็นการบูชานางทุรคา  โดยทำอุบายปลอมตนเป็นพ่อค้านำทับทิมล้ำค่าซ่อนไว้ในผลไม้มาถวายพระวิกรมาทิตย์ทุกวัน  พระวิกรมาทิตย์จึงพระราชทานพระอนุญาตให้พ่อค้าทูลขอสิ่งที่ปรารถนาเพื่อเป็นการตอบแทน  ศานติศีลจึงเผยตัวว่าตนเองเป็นโยคีและทูลขอให้พระวิกรมาทิตย์ไปจับเวตาลในป่าช้า  เพื่อนำมาประกอบพิธีอย่างหนึ่ง  และตามสัญญาพระวิกรมาทิตย์จะต้องเสด็จไปกับพระราชโอรสเท่านั้น
           เวตาลนั้นสิงอยู่ในซากศพซึ่งแขวนอยู่ที่ต้นอโศก  พระวิกรมาทิตย์ต้องทรงปีนขึ้นไปจับตัวเวตาลให้ได้  แต่เวตาลขอสัญญากัพระวิกรมาทิตย์ว่าจะเล่านิทานเป็นปริศนา  หากพระองค์ตรัสตอบเมื่อใด  เวตาลจะกลับไปยังต้นอโศกทันที  เมื่อพระวิกรมาทิตย์ทรงสัญญา  เวตาลก็เริ่มเล่านิทานโดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง  เมื่อเล่าจบเรื่องก็ถามปัญหา  พระวิกรมาทิตย์เพลิดเพลินกับนิทานจนเผลอตอบปัญหา  เวตาลจึงลอยกลับไปยังต้นอโศก  พระวิกรมาทิตย์ต้องทรงกลับไปจับตัวเวตาลมาอีก  เป็นอย่างนี้จนกระทั่งถึงนิทานเรื่องสุดท้ายจึงทรงจับเวตาลและประหารชีวิตโยคี
                เรื่องย่อนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐
กล่าวถึงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อกรุงธรรมปุระ  พระราชาทรงนามท้าวมหาพล มีมเหสีซึ่งยังเป็นสาวงดงามและมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง  ต่อมาพระราชาทรงทราบว่าทหารไพร่พลของตนเอาใจออกห่างไปเข้ากับข้าศึก  รี้พลของตนย่อยยับไป  จึงพาพระมเหสีและพระราชธิดาเสด็จหนีออกจากเมืองมุ่งไปเมืองเดิมของพระมเหสี  ระหว่างทางท้าวมหาพลถูกโจรฆ่าตาย พระมเหสีและพระราชธิดาพากันหนีไป  จนกระทั่งท้าวจันทรเสนและพระราชบุตรที่เสด็จออกมาล่าสัตว์ในป่า  ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าของนางทั้งสองก็เสด็จตามไป  และทรงตกลงกันว่าพระราชบุตรจะรับนางที่รอยเท้าเล็กเป็นมเหสีส่วนนางที่เท้าใหญ่ให้เป็นชายาของท้าวจันทรเสน  เมื่อติดตามไปพบท้าวจันทรเสนทรงวิวาหะกับนางที่มีรอยเท้าใหญ่  ซึ่งก็คือพระราชธิดา  พระราชบุตรทรงวิวาหะกับนางที่มีรอยเท้าเล็ก  ซึ่งก็คือพระมเหสีของท้าวมหาพล
        เวตาลทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ลูกของท้าวจันทรเสนกับลูกของพระราชาบุตรที่เกิดมาจะเป็นญาติกันอย่างไร  แต่ครั้งนี้พระวิกรมาทิตย์ไม่ยอมตรัสตอบพระธรรมธวัชราชบุตรก็ทรงนิ่งเฉย  จึงเป็นอันว่าพระวิกรมาทิตย์สามารถนำตัวเวตาลไปได้

วิเคราะห์คุณค่านิทานเวตาลเรื่องที่10

การวิเคราะห์คุณค่าจากเรื่องนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐
                                นิทานเวตาลมีคุณค่า ๓ ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านข้อคิด คุณค่าด้านภาษา และคุณค่าด้านวัฒนธรรม
                                ๑. คุณค่าด้านข้อคิด นิทานเวตาลมีคุณค่าด้านข้อคิด ๒ ประการ ได้แก่ ผลเสียของสงครามและการด่วนตัดสินโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ
                                ๑.๑ ผลเสียของสงคราม สงครามทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตดังจะเห็นได้จาก การที่นายทหารและไพร่พลของท้าวมหาพลเห็นแก่อามิสสินบนฝ่ายศัตรูจึงทำให้เสียบ้านเมือง ไพร่พลของท้าวมหาพลต้องตายในการศึกสงคราม จนในที่สุดรี้พลของท้าวมหาพลร่อยหรอย่อยยับไป แม้กระทั่งท้าวมหาพลเองก็ต้องพาพระมเหสีและพระราชธิดาหนีออกจากกรุง ทำให้พระองค์ถูกโจรฆ่าชิงทรัพย์
                                ๑.๒ การด่วนตัดสินโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ การด่วนตัดสินใจ โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ ทำให้เกิดปัญหา ผู้ปกครองจึงควรมีสติและวิจารณญาณ  ดังที่พระราชาจันทเสนและพระราชโอรสเห็นรอยเท้าของนางทั้งสอง และสรุปว่ารอยเท้าเล็กต้องเป็นของนางผู้มีอายุน้อย ส่วนรอยเท้าใหญ่ต้องเป็นของผู้มีอายุมากกว่า นับว่าเป็นการคาดคะเนที่ผิด อันนำไปสู่ปัญหาในภายหลัง ดังปรากฏในเรื่องว่า แลเพราะเหตุที่คาดขนาดเท้าผิด ลูกกลับเป็นเมียพ่อ แม่กลับเป็นเมียลูก ลูกกลับเป็นแม่เลี้ยงของผัวแม่ตัวเอง แลแม่กลับเป็นลูกสะใภ้ของผัวแห่งลูกตน แลต่อมาบุตรแลธิดาก็เกิดจากนางทั้งสอง แลบุตรแลธิดาแห่งนางทั้งสองก็มีบุตรและธิดาต่อๆ กันไป
                                ๒. คุณค่าด้านภาษา  น.ม.ส. ทรงแปลนิทานเวตาลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยใช้สำนวนภาษาของตนเอง ซึ่งมีลักษณะดังนี้
                                ๒.๑ การใช้ภาษาที่อ่านง่าย กระชับ เป็นการเลือกใช้ถ้อยคำที่มีความหมายชัดเจน โดยไม่มีคำศัพท์ที่ต้องแบ่งหรือตีความ เช่น
                                สองนางพระองค์สั่นพากันหนีห่างออกไปจากหมู่บ้านโจร ทางจะไปทางไหนหาทราบไม่ ความมุ่งมาดมีอยู่แต่ว่าจะหนีให้พ้นมือพวกภิลล์ซึ่งเป็นคนชาติต่ำช้าเท่านั้น
                                ครั้นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงกระทำสัญญาแบ่งนางกันดังนี้แล้ว ก็ทรงชักม้าตามรอยเท้านางเข้าไปในป่า สักครู่หนึ่งเห็นสองนางนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ กษัตริย์สององค์ก็เสด็จลงจากม้าเข้าไปถามนางทั้งสององค์ก็เล่าเรื่องให้ทรงทราบทุกประการ
                                ๒.๒ การสร้างอารมณ์ขัน เป็นลักษณะเด่นของนิทานเวตาล ซึ่งทำให้น่าสนใจและชวนอ่าน ส่วนใหญ่เป็นคำพูดของเวตาลที่ต้องการยั่วพระวิกรมาทิตย์ เช่น
                                ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้เกิดกระเหม่นตาซ้ายหัวใจเต้นแรง  แลตาก็มืดมัวเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว  แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่งแลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมาเป็นหลายเที่ยวแล้ว  แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง  ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่อยากทูลถามสักที  ถ้าทรงตอบได้พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาพระองค์ใด
                                ครั้งนี้แม้แต่กระแอม  พระวิกรมาทิตย์ก็ไม่ทรงกระแอม  เวตาลจึงกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อพระองค์ทรงจนปัญญาถึงเพียงนี้แล้ว  บางทีพระราชบุตรซึ่งทรงปัญญาเฉลียวฉลาดจะทรงแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง แต่พระธรรมธวัชพระราชบุตรนิ่งสนิททีเดียว
                                ๒.๓ การใช้ประโยคสมดุลกัน คือวางข้อความซ้ำและขนานความกันไป เช่น
                                ท้าวมหาพลเห็นจะรักษาชีวิตพระองค์ไว้ไม่ได้ด้วยวิธีรบ ก็คิดจะรักษาด้วยวิธีหนี
                                ข้าศึกมีกำลังมากแลชำนาญการศึกใช้ทั้งทองคำแลเหล็กเป็นอาวุธ  คือ  ใช้ทองคำซื้อน้ำใจนายทหารและไพร่พลของพระราชาให้เอาใจออกห่างจากพระองค์  แลใช้เหล็กเป็นอาวุธฆ่าฟันคนที่ซื้อน้ำใจไม่ได้
                                ๒.๔ การใช้คำซ้อน มีดังนี้
                                จนในที่สุดรี้พลของท้าวมหาพลหรอร่อย ย่อยยับไป
                                พวกโจรเข้ากลุ้มรุมรบพระราชา
                                ความมุ่งมาดมีอยู่แต่ว่าจะหนีให้พ้นมือพวกภิลล์ซึ่งเป็นคนชาติต่ำช้าเท่านั้น


                                ๓. คุณค่าด้านวัฒนธรรม นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นวัฒนธรรมเรื่องการนับญาติซึ่งเป็นปมปัญหาที่เวตาลนำมาถามพระวิกรมาทิตย์ แต่การนับญาติในนิทานเรื่องนี้เกิดจากการสลับคู่ผิดไปจากระเบียบแบบแผนที่ปฏิบัติกันในสังคม อย่างไรก็ดี การนับญาติที่เป็นปัญหานี้กลับเป็นปริศนาที่ชวนให้ขบคิด และไม่น่าจะมีคำตอบที่แน่ชัด ดังจะเห็นได้ว่าการที่พระวิกรมาทิตย์ไม่ทรงตอบเวตาลเพราะทรงตีปัญหาไม่ได้ อีกทั้งเวตาลเองก็ดูเหมือนจะตั้งใจถามคำถามที่ไม่มีคำตอบนี้ดังปรากฏตั้งแต่ตอนต้นเรื่องว่า ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้เกิดกระเหม่นตาซ้ายหัวใจเต้นแรงแลตาก็มืดมัวเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่ง แลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมา เป็นหลายเที่ยวแล้ว แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่ยาก ทูลถามสักที ถ้าทรงตอบได้ พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาพระองค์ใด

อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง

วรรณคดีเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
๑. ผู้แต่ง
                เป็นบทละครรำพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์สมบัติ เป็นสมัยที่วรรณคดีเจริญที่สุด วรรณคดีสมัยนี้หลายเรื่องได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของวรรณคดี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครและส่งเสริมให้มีการหัดละคร เล่นละคร ทั้งละครนอกและละครใน ส่วนผลงานของพระองค์ในด้านภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม ก็เป็นที่ประจักษ์เด่นชัดแก่สายตาชาวโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงได้รับเทิดพระเกียรติจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฐานะบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ และทางราชการยังถือเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ คือวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติด้วย
๒.ที่มาของเรื่อง
                อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีที่มาจากนิทานปันหยี ซึ่งเป็นคำสามัญที่ชาวชวาใช้เรียกวรรณคดีที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง คือ อิเหนาปันหยีกรัตปาตี
                วรรณคดีเรื่องอิเหนา มีเนื้อหาเป็นพงศาวดาร แต่งขึ้นเพื่อการเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ชวาพระองค์หนึ่งซึ่งทรงเป็นนักรบ นักปกครอง และทรงสร้างความเจริญให้แก่ชวาเป็นอย่างมาก กษัตริย์พระองค์นี้ทรงพระนามว่า ไอรลังคะ ครองราชย์อยู่ที่เมืองตาฮา (ดาหา) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๑๒ กษัตริย์ไอรลังคะทรงมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ และพระราชโอรส ๒ พระองค์ เมื่อพระราชธิดาออกผนวชเป็นชี กษัตริย์ไอรลังคะจึงทรงแบ่งราชอาณาจักรออกเป็น ๒ ส่วน คือ กุเรปัน และดาหา เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ พระราชโอรสพระองค์โตทรงครองเมื่อกุเรปัน พระราชโอรสพระองค์เล็กครองเมืองดาหา
                ต่อมากษัตริย์กุเรปันทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง และกษัตริย์ดาหาทรงมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงปรากฏพระนามในวรรณคดีว่าอิเหนาและบุษบา เมื่อเจริญพระชันษา พระราชธิดาของอดีตกษัตริย์ไอรลังคะที่เสด็จออกผนวชเป็นชี มีพระดำริให้อิเหนาและบุษบาอภิเษกกัน เพื่อให้กุเรปันและดาหากลับมารวมเป็นราชอาณาจักรเดียวกันดังเดิม
                อิเหนาเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพ ทรงปราบปรามหัวเมืองน้อยใหญ่ให้อยู่ในอำนาจ จนได้ชื่อว่าเป็นมหาราชพระองค์หนึ่งในพงศาวดาร อย่างไรก็ตามราชวงศ์อิเหนารุ่งเรืองอยู่เพียง ๒๐๐ ปี จนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๔ ก็เสื่อมอำนาจเพราะถูกกษัตริย์อังรกะแย่งราชสมบัติและย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ที่เมืองสิงคัสซารี (สิงหัดส่าหรี) แต่ในสมัยต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองมัชปาหิต
                จนถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ ชวาก็ตกอยู่ในอำนาจของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม ภายหลังก็ตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสและฮอลันดา ได้รับเอกราชและสถาปนาเป็นประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒
                ชาวชวาถือว่าอิเหนาเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้มีฤทธิ์ เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาจนกลายเป็นนิทานจึงเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์
                เนื่องจากนิทานปันหยีหรืออิเหนาเป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมจากชาวชวาเป็นอย่างมาก เนื้อเรื่องจึงปรากฏหลายสำนวน และเมื่อเข้าสู่ประเทศไทย มีคำกล่าวกันสืบมาว่า พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับเจ้าฟ้าสังวาล คือ เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎได้ทรงฟังนิทานปันหยีจากนางกำนัลชาวมลายูที่ได้มาจากเมืองปัตตานี พระราชธิดาทั้งสองพระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะทรงนิพนธ์นิทานเรื่องนี้ขึ้น เจ้าฟ้ากุณฑลทรงนิพนธ์เป็นบทละครเรื่องดาหลัง และเจ้าฟ้ามงกุฎทรงนิพนธ์เป็นบทละครเรื่องอิเหนา แต่คนทั่วไปมักเรียกบทพระนิพนธ์ของทั้งสองพระองค์ว่า อิเหนาใหญ่ และอิเหนาเล็ก นิทานปันหยีของไทยจึงมี ๒ สำนวนแต่นั้นมา
                อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อแรกเริ่มสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะโปรดเกล้าฯ ให้นำมาเล่นเป็นละครในทั้งสองเรื่อง แต่เนื่องจากอิเหนาเล็กมีเนื้อเรื่องไม่สับสนเหมือนอิเหนาใหญ่ และชื่อตัวละครก็เรียกไม่ยาก คนทั่วไปจึงนิยมเรื่องอิเหนาเล็กมากกว่า ดังมีหลักฐานเป็นพยานอยู่ในเรื่อง ปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ซึ่งแต่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้กล่าวถึงการเล่นละครในเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาลักนางบุษบาไปไว้ในถ้ำ อันเป็นเนื้อเรื่องของอิเหนาเล็กที่ไม่ปรากฏในเรื่องอิเหนาใหญ่ ดังความที่บรรยายไว้ว่า
                                                “ร้องเรื่องระเด่นโดย                          บุษบาตุนาหงัน
                                พักพาคุหาบรร-                                                   พตร่วมฤดีโลม”
                เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ต้นฉบับบทละครเรื่องดาหลังและอิเหนาซึ่งแต่เดิมแต่งไว้ถึงตอนสึกชี สูญหายไป และไม่ปรากฎว่ามีบทละครเรื่องอิเหนาที่แต่งขึ้นใหม่จึงเข้าใจว่าการเล่นละครเรื่องอิเหนาในสมัยธนบุรีคงใช้บทละครครั้งกรุงเก่าที่จำสืบกันมา
                อย่างไรก็ตาม ในสมัยธนบุรียังมีอิเหนาอีกสำนวนหนึ่งซึ่งเป็นงานนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นหลวงสรชิต ชื่อเรื่องว่า อิเหนาคำฉันท์ แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๒๒ ดำเนินความตามบทละครเรื่องอิเหนาเล็ก พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้ามงกุฎ ตั้งแต่ตอนอิเหนาเผาเมืองดาหาแล้วปลอมเป็นจรกาลักพาบุษบาไปซ่อนในถ้ำ จนถึงอิเหนากลับไปแก้ความสงสัยที่กรุงดาหา
                สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้น โดยทรงพระราชนิพนธ์ซ่อมแซมแปลงบทครั้งกรุงเก่าที่ยังเหลืออยู่เฉพาะตรงตอนที่ขาดหายไป และในสมัยต่อมาพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้นใหม่ ทั้งหมด ด้วยมีพระราชดำริดังปรากฏในคำกลอนท้ายบทละครว่า
“อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง                        สำหรับงานการฉลองกองกุศล
                                ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์                                          แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
                                หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น                                   ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
                                เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้                                 บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”
                เนื่องจากบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งทรงแต่งซ่อมแซมนั้น เนื้อความเข้ากันไม่สนิทกับบทเมื่อครั้งกรุงเก่าและนำมาเล่นละครได้ไม่เหมาะ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขให้สั้นและสอดคล้องกับท่ารำโดยรักษากระบวนความไว้ตามเดิม แล้วพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิทักษ์มนตรีซึ่งทรงเชี่ยวชาญในการละคร ทรงนำไปลองหักซ้อมกระบวนท่ารำตามบทกับครูละคร ก่อนที่จะช่วยกันดัดแปลงเสริมแต่งท่ารำจนเห็นว่างาม เมื่อได้ท่ารำต้องกันกับบทแล้วจึงนำไปซ้อมจนชำนาญ แล้วจึงรำถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อให้มีพระบรมราชวินิจฉัยอีกครั้งเป็นอันสำเร็จ
๓. ลักษณะคำประพันธ์     
บทละครรำเรื่องอิเหนา มีรูปแบบการแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนบทละคร ซึ่งมีลักษณะบังคับเหมือนกลอนสุภาพ แต่วรรคแรกมักขึ้นต้นว่า “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” และ “มาจะกล่าวบทไป” โดยคำว่า “เมื่อนั้น” ใช้กับตัวเอกของเรื่องหรือตัวละครที่เป็นกษัตริย์ คำว่า “บัดนั้น” ใช้กับตัวละครสามัญ และคำว่า “มาจะกล่าวบทไป” ใช้เมื่อขึ้นตอนใหม่หรือเนื้อความใหม่
สำหรับวรรคจำนวนคำในแต่ละวรรค อาจจะมีไม่เท่ากัน เพราะจะต้องให้เหมาะสมกับท่ารำและทำนองเพลง นอกจากนี้ยังต้องมีการกำหนดเพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบกิริยาอาการตัวละคร เช่น เชิด เสมอ เชิดฉิ่ง กราวรำ เป็นต้น และเพลงสำหรับขับร้อง เช่น ร่าย สมิงทรง ชมตลาด นางครวญ เป็นต้น พร้อมทั้งบอกจำนวนคำในบทนั้นด้วย คือ ๒ วรรค เป็นหนึ่งคำกลอน
๔. เนื้อเรื่องย่อ
ดินแดนชวาโบราณ มีกษัตริย์วงศ์หนึ่งเรียกว่า วงศ์อสัญแดหวา หรือวงศ์เทวา กล่าวกันว่าวงศ์นี้มีพี่น้องสี่องค์ องค์พี่ครองเมืองกุเรปัน องค์ที่สองครองเมืองดาหา องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี กษัตริย์วงศ์เทวามีอานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูง จึงอภิเษกกันเฉพาะในวงศ์พี่น้อง นอกจากนี้ทั้งสี่เมืองเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งมเหสีได้ ๕ องค์ ตามลำดับตำแหน่ง คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหราหงี แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองหมันหยาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า กล่าวคือ เจ้าเมืองนี้มีราชธิดาสามองค์ องค์โตชื่อ นิหลาอระตา ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน องค์ที่สองชื่อ ดาหราวาตี ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองดาหา ส่วนองค์สุดท้องชื่อ จินดาส่าหรี ได้อภิเษกกับโอรสท้าวมังกัน และได้ครองเมืองหมันหยา
ท้าวกุเรปันมีโอรสองค์แรกกับลิกู ชื่อว่า กะหรัดตะปาตี ต่อมามีพระโอรสกับประไหมสุหรีเป็นหนุ่มรูปงามและเก่งกล้าสามารถมาก ชื่อ อิเหนา หรือระเด่นมนตรี และมีพระธิดาชื่อ วิยะดา ส่วนท้าวดาหามีพระธิดากับประไหมสุหรีชื่อ บุษบา และมีโอรสชื่อ สียะตรา บุษบามีอายุไล่เลี่ยกับอิเหนา ท้าวกุเรปันจึงหมั้นบุษบาให้กับอิเหนา และสียะตราก็หมั้นหมายกันไว้กับวิยะดา
                ส่วนระตูหมันหยากับประไหมสุหรีก็มีพระราชธิดาชื่อ ระเด่นจินตะหรา อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรีมีโอรสชื่อ ระเด่นสุหรานากง ราชธิดาชื่อ ระเด่นจินดาส่าหรี ท้าวกาหลังมีราชธิดาชื่อ ระเด่นสกาหนึ่งหรัด ซึ่งเป็นคู่ตุนาหงันกับสุหรานากง
เมื่อพระอัยกาเมืองหมันยาสิ้นพระชนม์ ท้าวกุเรปันมอบหมายให้อิเหนาไปร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกะหรัดตะปาตี อิเหนาพบจินตะหราก็หลงรัก จนพิธีเสร็จก็ไม่ยอมกลับ ท้าวกุเรปันจึงอ้างว่าประไหทสุหรีจะมีประสูติกาลให้กลับมาเป็นกำลังใจ อิเหนาจึงจำใจกลับมาประจวบกับพระราชมารดาประสูติพระราชธิดา ชื่อ ระเด่นวิยะดา
อย่างไรก็ตาม อิเหนายังหาทางกลับไปเมืองหมันหยาอีก โดยอ้างว่าจะไปประพาสป่าแล้วปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสารปันหยี ระหว่างทางได้รบกับ ระตูบุศสิหนา น้องชายสุดท้องของ ระตูปันจะรากัน และ ระตูปักมาหงัน ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ น้องชายสุดท้องของ ระตูปันจะรากัน และระตูปักมาหงัน ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ นางดรสา ซึ่งเพิ่งเข้าพิธีอภิเษกกับระตูบุศสิหนาจึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามพระสวามี ส่วนระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงันยอมแพ้ และถวายพระธิดาและพระโอรสให้อิเหนา คือ นางสการะวาตี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาได้ ก็ลักลอบเข้าหานางจินตะหรา แล้วได้สองนางคือ นางสการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา และรับสังคามาระตาเป็นน้องชาย
ท้าวกุเรปันเรียกอิเหนากลับเมืองถึงสองครั้ง พร้อมทั้งนัดวันอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบา แต่อิเหนาไม่ยอมกลับและสั่งความตัดรอนนางบุษบา ท้าวกุเรปันและท้าวดาหาทราบเรื่องก็ขัดเคืองพระทัย ท้าวดาหาถึงกับหลุดปากว่าถ้าใครมาขอบุษบาก็จะยกให้
                ฝ่ายจรการะตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง และเป็นอนุชาของท้าวล่าสำ (ท้าวล่าสำผู้นี้มีธิดา คือระเด่นกุสุมา เป็นคู่หมั้นของสังคามาระตา) จรกาเป็นชายรูปชั่วตัวดำ แต่อยากได้ชายารูปงาม จึงให้ช่างวาดไปแอบวาดภาพราชธิดาของกษัตริย์เมืองสิงหัดส่าหรี คือนางจินดาส่าหรี ครั้นทราบข่าวว่านางบุษบาสวยงามมากจึงให้ช่างวาดภาพแอบวาดภาพนางบุษบาอีก ช่างวาดภาพแอบวาดภาพได้ ๒ ภาพ คือ ตอนนางบุษบาเพิ่งตื่นบรรทมและภาพที่แต่งองค์เต็มที่ ขณะเดินทางกลับ องค์ประตาระกาหลาบันดาลให้รูปนางบุษบาที่ทรงเครื่องตกหายไป จรกาได้เห็นภาพที่เพิ่งตื่นบรรทมเท่านั้นก็หลงใหล ถึงกับสลบไปทันที เมื่อได้ข่าวจากช่างวาดภาพว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน จึงรีบให้ท้าวล่าสำ ซึ่งเป็นพี่ชายมาสู่ขอบุษบา ท้าวดาหากำลังโกรธอิเหนาอยู่ แม้จะรู้ว่าจรการูปชั่วต่ำศักดิ์ แต่เมื่อพลั้งปากว่าใครมาขอจะยกให้ จึงจำใจยกนางบุษบาจรกาและกำหนดการวิวาห์ภายในสามเดือน
                กล่าวถึงกษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง องค์พี่ครองเมืองกะหมังกุหนิง มีพระโอรสชื่อวิหยาสะกำ องค์รองครองเมืองปาหยัง มีพระธิดา ๒ พระองค์ คือ นางรัตนาระติกา และรัตนาวาตี องค์สุดท้องครองเมืองปะหมันสลัด มีพระโอรสชื่อ วิหรากะระตา มีพระธิดาชื่อ บุษบาวิลิศ
                อยู่มาวิหยาสะกำโอรสท้าวกะหมังกุหนิงเสด็จประพาสป่า พบภาพวาดของนางบุษบาทรงเครื่องที่หายไปก็คลั่งไคล้ใหลหลงถึงกับสลบเช่นกัน ท้าวกระหมังกุหนิงรักและเห็นใจโอรสมากจึงให้คนไปสืบว่านางในภาพเป็นใครแล้วก็ให้แต่งทูตไปขอนางบุษบา แต่ถูกท้าวดาหาปฏิเสธ เพราะได้ยกให้ระตูจรกาไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงทำให้เกิดศึกชิงนางขึ้นชื่อว่าศึกกะหมังกุหนิง
เนื้อเรื่องย่ออิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงส่งทูตไปขอบุษบา แต่ได้รับการปฏิเสธจากท้าวดาหาจึงเตรียมจัดทัพยกไปตีเมืองดาหาโดยให้พระอนุชา คือ ระตูปาหยัง และระตูประหมัน รวมทั้งหัวเมืองทั้งปวงยกทัพมาช่วย ท้าวกะหมังกุหนิงให้วิหยาสะกำเป็นทัพหน้า พระอนุชาทั้งสองเป็นทัพหลัง ส่วนพระองค์เป็นจอมทัพ แต่ก่อนที่จะยกไปนั้น โหรทำนายว่าดวงชะตาของท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำนั้นถึงฆาต ถ้ายกทัพไปในวันรุ่งขึ้นจะพ่ายแพ้ต่อศัตรู ควรงดทำศึกไปก่อน ๗ วัน จึงจะพ้นเคราะห์ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่เปลี่ยนพระทัย
ฝ่ายท้าวดาหาได้ขอความช่วยเหลือไปยังท้าวกุเรปัน ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวกุเรปันส่งราชสารไปให้อิเหนายกทัพไปช่วยท้าวดาหาทำศึก อีกฉบับส่งไปให้ระตูหมันหยาโดยตำหนินางจินตะหราว่าเป็นสาเหตุให้อิเหนาตัดรอนนางบุษบา ส่งผลให้เกิดศึกสงครามขึ้น ระตูหมันหยารู้สึกผิดจึงรีบให้อิเหนายกทัพไปเมืองดาหา ส่วนท้างกาหลังให้ตำมะหงงกับดะหมังคุมทัพมาช่วย ท้าวสิงหัดส่าหรีส่งสุหรานากงผู้เป็นราชโอรสมาช่วยรบ เมื่อทัพที่จะช่วยเมืองดาหารบมากันครบแล้ว อิเหนาจึงมีบัญชาให้จัดเตรียมรบกับทัพท้าวกะหมังกุหนิง
ครั้นทัพทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน สังคามาระตาเป็นคู่ต่อสู้กับวิหยาสะกำและสังหารวิหยาสะกำได้ ท้าวกะ หมังกุหนิงเห็นโอรสถูกสังหารตกจากม้าก็โกรธ ขับม้าเข้าไล่ล่าสังคามาระตา อิเหนาจึงเข้าสกัดและต่อสู้กับท้าวกะ หมังกุหนิง ทั้งสองฝีมือทัดเทียมกันทั้งเพลงหอกและกระบี่ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายกระบวนเพลง ในที่สุดอิเหนาก็ใช้กริชสังหารท้าวกะหมังกุหนิงได้  ระตูปาหยังและระตูประหมันยอมอ่อนน้อมต่ออิเหนา และจะขอส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามประเพณี อิเหนาจึงอนุญาตให้นำศพท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำกลับไปทำพิธี
๕. คุณค่าของงานประพันธ์
                ๕.๑ วรรณคดีสโมสรยกย่องบทละครเรื่องอิเหนาว่าเป็นยอดของกลอนบทละคร เพราะมีเนื้อเรื่องสนุกครบทุกรส ทั้งบทรัก กล้าหาญ หึงหวง บทบาทของตัวละครมีความเหมาะสม
                ๕.๒ ให้ความรู้เกี่ยวกับคนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น การป้องกันบ้านเมือง การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนความเชื่อของคนสมัยนั้น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
                ๕.๓ สอดแทรกคติธรรมและข้อคิดต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตของมนุษย์ขึ้นว่า ผลต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวละครนั้นล้วนมาจากเหตุอันเป็นการกระทำของตัวละครนั้นเองทั้งสิ้น
                ๕.๔ คุณค่าในด้านนาฏการของบทละครเรื่องอิเหนา คือ งามทั้งท่ารำ เครื่องแต่งกายของตัวละครไพเราะทั้งคำร้องและทำนองเพลง วงดนตรีไทยหรือวงมโหรีนิยมนำเนื้อความจากวรรณคดีเรื่องอิเหนาไปขับร้องด้วยทำนองเพลงต่างๆ หลายเพลง ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของนักดนตรี นักร้อง และ นักดนตรีไทยเป็นอย่างมาก
๖. ความรู้เพิ่มเติม
                ๖.๑ ละครนอก เป็นละครที่สามัญชนเล่นกันเพื่อความสนุกสนาน ตัวละครใช้ชายแสดงล้วนๆ ท่ารำและคำร้องเป็นแบบง่ายๆไม่ประณีต เน้นความสนุกสนานเป็นสำคัญ ละครนอกใช้บทละครในการแสดงได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท และ อิเหนา
                ๖.๒ ละครใน  เป็นละครที่เล่นกันในวัง ใช้ผู้หญิงแสดงล้วนๆ ท่าทางงดงาม อ่อนช้อย เครื่องแต่งกายงดงาม คำร้องและทำนองเพลงไพเราะ
                ๖.๓ พี่เลี้ยงของนางบุษบา มี ๔ คน คือ บาหยัน  ซ่าเหง็ด  ประเสหรัน  ปะลาหงัน
                ๖.๔ พี่เลี้ยงของอิเหนา มี ๔ คนคือ ปูนตา การะตาหรา ประสันตา  ยะรุเดะ
                ๖.๕ มเหสีของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวา มี ๕ ตำแหน่ง คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู เหมาหลาหงี

วิเคราะห์คุณค่าอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง (1)

คุณค่า อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
          การใช้คำและโวหาร  เรื่องอิเหนา  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  มีการใช้ภาษาที่สละสลวยให้อารมณ์อันลึกซึ้งกินใจ  อีกทั้งมีโวหารเปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์ให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์  ที่สำคัญยังแฝงด้วยข้อคิดที่มีคุณค่ายิ่งอีกมากมาย  ดังนี้
          การใช้ภาษาสละสลวยงดงาม  มีการเล่นคำ  เล่นสัมผัสพยัญชนะเพื่อให้เกิดความไพเราะ  เช่น  ตอนอิเหนาชมดง
                                   ว่าพลางทางชมคณานก                    โผนผกจับไม้อึงมี่
                              เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                          เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
                              นางนวลจับนางนวลนอน                         เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
                              จากพรากจับจากจำนรรจา                       เหมือนจากนางสการะวาตี
          การใช้โวหารเปรียบเทียบ  คือ  โวหารอุปมาเป็นการสร้างอารมณ์ให้กับผู้อ่าน  กวีเปรียบได้ชัดเจน  เช่น
                                   กรุงกษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย                   เราเป็นเมืองน้อยกระจิหริด
                              ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์                    เห็นผิดระบอบบุราณมา
          ปาหยังกับปะหมันประเมินกำลังฝ่ายตนว่าเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ เท่านั้น  คงสู้วงศ์เทวาไม่ได้  จึงไม่ควรสู้เป็นการเตือนสติให้หยุดคิด  แต่ก็ไม่ได้ผล  ปัญหาใหญ่จึงตามมา
          หรือจากคำคร่ำควรญของจินตะ หรา  ที่เปรียบความรักเหมือนสายน้ำไหลที่ไหลไปแล้วจะไม่มีวันย้อนกลับ  ที่มาของสำนวน "ความรักเหมือนสายน้ำไม่มีวันไหลย้อนกลับ"  คำคร่ำครวญของจินตะหราเป็นเพราะเกิดความไม่มั่นใจในฐานะของตนเอง  เกิดความรู้กขึ้นมาว่าตนอาจต้องสูญเสียคนรัก  เพราะข่าวการแย่งบุษบาแสดงว่าบุษบาต้องสวยมาก  อีกทั้งยังเป็นคู่หมั้นของอิเหนามาก่อน  ยิ่งทำให้รู้สึกหวาดหวั่น  ดังคำประพันธ์ทีอ่านแล้วจะเกิดอารมณ์สะเทือนใจ  สงสาร  และเห็นใจว่า
                                   แล้วว่าอนิจจาความรัก                         พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
                              ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป                        ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
                              สตรีใดในพิภพจบแดน                               ไม่มีใครได้แค้นเหมือนนอกข้า
                              ด้วยใฝ่รักให้เกิดพักตรา                              จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
               อีกตอนหนึ่งมีใช้อุปมาโวหารได้กินใจเช่นกัน  เพราะแสดงความรักอันท่วมท้นของพ่อที่มีต่อลูก
                                   "พี่ดังพฤกษาพนาวัน                            จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา"
               ความรักของพ่อทนไม่ได้ที่เห็นลูกมีทุกข์  หากแลกได้จะยอมรับทุกข์แทนลูก  แต่เมื่อทำไม่ได้พ่อก็ต้องพยายามจนถึงที่สุด  แม้รู้ว่าจะไปตายก็ยอม  บทเปรียบเทียบนี้เปรียบกับธรรมชาติ  คือ  ต้นไม้บางประเภทที่เมื่อออกผลแล้วต้นจะตายไป  ต้นไม้ตายเพราะลูกก็เปรียบได้กับท้าวกะหมังกุหนิงต้องตายเพราะมีสาเหตุมาจาก วิหยาสะกำซึ่งเป็นพระราชโอรสนั่นเอง  อุปมานี้ฝากข้อคิดไว้ให้ลูก ๆ ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักเรามากมายเพียงใด
               อีกตอนหนึ่งเป็นข้อความในพระราชสาส์นที่ท้าวกุเรปันมีไปถึงอิเหนา  ท้าวกุเรปันเป็นคนรักลูกก็จริง  แต่ก็หยิ่งในเกียรติถือยศถือศักดิ์  ถ้าลูกผิดก็จะไม่มีวันโอนอ่อน  คำประพันธ์ตอนนี้จึงให้อารมณ์ของความเด็ดขาด  เข้มแข็ง  ไม่มีการอ้อนวอนขอร้องใด  เปิดโอกาสให้อิเหนาคิดเอาเอง  หากไม่มาก็ถือตัดพ่อตัดลูกชนิดไม่ต้องมาเผาผีกัน
                                   แม้มิยกพลไกรไปช่วย                           เราก็ม้วยก็อย่ามาดูผี
                              อย่าดูทั้งเปลวอัคคี                                    แต่วันนี้ขาดกันจนบรรลัย
          ใช้คำบรรยายชัดเจนได้ภาพพจน์  ผู้อ่านนึกภาพตามผู้เขียนบรรยายตามไปยิ่งจะทำให้ได้อรรถรสในการอ่านมากขึ้น  เช่น  ตอนอิเหนาต่อสู้กับท้าวกะหมังกุหนิงด้วยใช้กริชเป็นอาวุธ  จะเห็นลีลาท่าทางและจังหวะที่สอดคล้องกัน  เห็นทีท่าอันฉับไวและสง่างาม
                                     เมื่อนั้น                                             ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี
                              ได้ฟังคำชื่นชมยินดี                                    ครั้งนี้อิเหนาจะวายชนม์
                              อันเพลงกริชชวามลายู                                กูรู้สันทัดไม่ขัดสน
                              คิดแล้วชักกริชชวามลายู                             ร่ายทำทำกลมารยา
                              กรขวานั้นกุมกริชกราย                                พระหัตถ์ซ้ายนั้นถือเช็ดหน้า
                              เข้าปะทะประกริชด้วยฤทธา                          ผัดผันไปมาไม่ครั่นคร้าม
                                   เมื่อนั้น                                             ระเด่นมนตรีชาญสมาน
                              พระกรกรายลายกริชติดตาม                          ไม่เข็ดขามคร้ามถอยคอยรับ
                              หลบหลีกไวว่องป้องกัน                              ผัดผันหันออกกลอกกลับ
                              ปะทะแทงแสร้างทำสำทับ                           ย่างกระหยับรุกไล่มิได้ยั้ง
                              เห็นระตูถอยเท้าก้าวผิด                               พระกรายกริชแทงอกตลอดหลัง
                              ล้มลงดาวดิ้นสิ้นกำลัง                                 มอดม้วยชีวังปลดปลง