นิราศนรินทร์คำโคลง
ความเป็นมา
นิราศ เป็นงานประพันธ์ประเภทหนึ่งของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน นิราศเรื่องแรกของไทยนั้น คือ โคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา
๑.ลักษณะของนิราศ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ อธิบายว่า “นิราศ” หมายถึง เรื่องราวที่พรรณนาถึงการจากกันหรือจากที่อยู่ไปในที่ต่าง ๆ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับงานประพันธ์ประเภทนิราศไว้ มีใจความโดยสรุปว่า นิราศเป็นงานประพันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะระยะเวลาที่กวีต้องเดินทางไปยังจุดหมายที่ต้องการนั้นยาวนานมาก เพราะการเดินทางในสมัยโบราณใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งแล่นไปได้อย่างช้าๆ ผู้เดินทางจึงมีเวลาว่างมาก เมื่อมีฝีมือในทางกาพย์กลอน กวีจึงได้บันทึกอารมณ์คิดถึงนางอันเป็นที่รักที่ตนต้องจากมา พร้อมกับเล่าระยะทางสถานที่ที่ผ่าน และสิ่งที่พบเห็นระหว่างทาง
๒.เนื้อหาของนิราศ
เนื้อหาของนิราศโดยทั่วไปมักเป็นการคร่ำครวญของกวี (ชาย) ต่อสตรีอันเป็นที่รัก เนื่องจากต้องพลัดพรากจากนางมาไกลไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ทั้งนี้ยังมีนิราศเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการคร่ำครวญของสตรีถึงสตรีด้วยกัน คือ โคลงนิราศท้าวสุภัติการภักดี พระราชนิพนธ์รัชการที่ ๕ ซึ่งทรงสมมติว่าท้าวสุภัติการภักดี (นาก) หัวหน้าห้องเครื่องในพระองค์เป็นคนแต่งขึ้นเมื่อคราวตามเสด็จฯ ประพาสหัวเมืองกาญจนบุรี ใน พ.ศ.๒๔๑๖ ดังปรากฏในโคลงท้ายเรื่องว่า
ร่ำเรื่องนิราศไห้ หาศรี
ท้าวสุภัติการภักดี กล่าวอ้าง
แสดงศักดิ์กระสัตรี ตรองตริ ทำแฮ
ไร้เพื่อนภิรมย์ร้าง รักเร้นแรมไกล
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าวรรณคดีนิราศมักมีความเศร้าเพราะร้างรักเป็นแก่นเรื่อง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น
๓.นางในนิราศ
สำหรับนางในนิราศส่วนใหญ่ที่กวีพรรณนาว่าจากมานั้น อาจมีตัวตนจริงหรือไม่ก็ได้ แต่กวีถือว่านางผู้เป็นที่รักเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะเอื้อให้กวีแต่งนิราศได้ไพเราะ แม้ในสมัยหลังกวีอาจไม่ได้ใช้การคร่ำครวญถึงนางเป็นแก่นเรื่องเท่ากับการบันทึกระยะทาง เหตุการณ์ และอารมณ์ แต่ก็ยังคงมีบทครวญถึงนางแทรกอยู่ ดังเช่นที่สุนทรภู่แต่ง นิราศภูเขาทอง ทั้งๆที่กำลังบวชอยู่ แต่สุนทรภู่ก็เห็นว่าการครวญถึงนางเป็นสิ่งจำเป็นในการแต่งนิราศ จึงกล่าวไว้ในกลอนตอนท้ายนิราศเรื่องนี้ว่า
“นิราศเรื่องเมืองเก่าของเรานี้ ไว้เป็นที่โสมนัสทัศนา
ด้วยได้ไปเคารพพระพุทธรูป ทั้งสถูปบรมธาตุพระศาสนา
เป็นนิสัยไว้เหมือนเตือนศรัทธา ตามภาษาไม่สบายพอคลายใจ
ใช่จะมีที่รักสมัครมา แรมนิราศร้างมิตรพิสมัย
ซึ่งคร่ำครวญทำทีพิรี้พิไร ตามนิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา”
ในบางกรณี กวีอาจแต่งนิราศขึ้นเมื่อเดินทางไกลและแม้ว่าจะไม่ได้จากนางอันเป็นที่รักจริง เพราะมีนางนั้นติดตามมาด้วย แต่กวีก็ยังต้องครวญถึงนางตามแบบแผนของนิราศ ดังเช่น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนิพนธ์ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ได้ทรงแถลงไว้ตอนท้ายเรื่องว่า
“จบเสร็จคร่ำครวญกาพย์ บทพิลาปถึงสาวศรี
แต่งตามประเวณี ใช่เมียรักจักจากจริง
โคลงครวญกลอนกล่าวอ้าง นารี
โศรกสร้อยถึงสาวศรี เษกหว้า
แต่งตามประเพณี ธิรภาคย์
เมียมิ่งพรั่งพร้อมหน้า ห่อนได้จากกัน”
อย่างไรก็ตาม ยังมีนิราศบางเรื่องทีไม่ได้กล่าวครวญถึงนางเลย เช่น นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน (นิราศกวางตุ้ง) ของพระยามหานุภาพ หรือนิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) แต่ก็มีน้อยเรื่อง และมักจะเป็นเรื่องที่ตรึงใจผู้อ่านได้ไม่มาก เพราะจะมีลักษณะเป็นจดหมายเหตุที่บันทึกเป็นคำกลอนมากกว่า จึงมีผู้กล่าวว่า นิราศประเภทนี้ไม่ใช้นิราศแท้
นอกจากนี้ยังมีนิราศบางเรื่องอาจไม่ได้มีการเดินทางจริง แต่ผู้แต่งได้จับเอาแก่นความหมายของนิราศมา โดยเลือกตอนใดตอนหนึ่งในวรรณคดีที่ตัวละครเอกชายพลัดพรากจากตัวละครเอกหญิง มาแต่งเป็นนิราศเฉพาะเรื่องขึ้นก็มี เช่น นิราษสีดา (นิราศสีดา) หรือ ราชาพิลาปคำฉันท์ มีเนื้อหาตัดตอนมาจากเรื่องรามเกียรติ์ กล่าวถึงพระรามพระลักษณ์ติดตามนางสีดาโดยแทรกบทคร่ำครวญรำพันในทำนองนิราศ หรือ นิราศอิเหนา ซึ่งสุนทรภู่นำตอนอิเหนาครวญถึงบุษบาถูกลมหอบในวรรณคดีเรื่องอิเหนามาแต่งเป็นนิราศ เป็นต้น
๔.คำประพันธ์ในนิราศ
วรรณคดีประเภทนิราศอาจแต่งคำประพันธ์ได้หลายประเภท เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน กาพย์ห่อโคลง แต่ที่นิยมมากที่สุดในสมัยโบราณ ได้แก่ โคลง ซึ่งส่วนมากมักขึ้นต้นด้วยร่ายหนึ่งบท และร่ายบทนี้จะมีใจความสดุดีบ้านเมืองและยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ เช่น โคลงกำสรวล (กำสรวลศรีปราชญ์หรือกำสรวลสมุทร) เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการแต่งนิราศด้วยกาพย์ห่อโคลง เช่น กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เป็นต้น
ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แม้โคลงจะยังเป็นคำประพันธ์ที่กวีนิยมนำมาใช้แต่งนิราศ แต่คำประพันธ์ประเภทกลอนก็เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่ามีผู้แต่งนิราศด้วยกลอนแพร่หลายมาก และหากแต่งเป็นกลอนมักขึ้นต้นด้วยวรรครับและลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” เช่น กลอนเพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง หรือกลอนนิราศเรื่องต่างๆของสุนทรภู่ เป็นต้น
นิราศนรินทร์คำโคลง
นิราศนรินทร์คำโคลงมีลักษณะเป็นนิราศแท้ คือ มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รักที่กวีจากมา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า นิราศนรินทร์คำโคลงเป็นนิราศที่มีความไพเราะที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย สำนวนโวหารและจินตนาการบางส่วนในนิราศเรื่องนี้เห็นได้ชัดว่า กวีได้ถือเอาวรรณคดีเรื่องโคลงกำสรวลซึ่งเป็นนิราศคำโคลงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นแบบ แต่กวีก็นำมาเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะเป็นของตนเอง ดังตัวอย่างเช่น ตอนที่กวีคิดว่าจะฝากนางไว้กับผู้ใดดีจึงจะปลอดภัย ในโคลงกำสรวลว่า
โฉมแม่จักฝากฟ้า เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทร์ท่านเทิกโฉมเอา สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤๅชัดเจ้าหล้า สู่สมสองสม
โฉมแม่ฝากน่านน้ำ อรรณพ แลฤๅ
เยียวนาคเชยชมอก พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ จอมสวาสดิ์ กูเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้ เท่าเจ้าสงวนเอง
ส่วนในนิราศนรินทร์คำโคลงว่า
โฉมควรจักฝากฟ้า ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์ ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน
ฝากอุมาสมรแม่แล้ ลักษมี เล่านา
ทราบสวยภูวจักรี เกลือกใกล้
เรียมคิดจนจบตรี โลกล่วง แล้วแม่
โฉมฝากใจแม่ได้ ยิ่งด้วยใครครอง
ประวัติผู้แต่ง
นิราศนรินทร์คำโคลง เป็นนิราศที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยมีความไพเราะเป็นเยี่ยม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าความรู้เกี่ยวกับประวัติผู้แต่งนั้นไม่สู้ชัดเจนนัก นอกจากปรากฏอยู่ในโคลงท้ายเรื่องว่า
“โคลงเรื่องนิราศนี้ นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล ว่าไว้”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานเรื่องราวเกี่ยวกับผู้แต่งว่าควรชื่อ “อิน” ตามที่บ่งไว้ในโคลงและควรเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเมื่อสอบดูทำเนียบข้าราชการวังหน้าในสมัยนั้นก็มีตำแหน่งนายนรินทรธิเบศร์ ทั้งเมื่อสอบกับกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น คือปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีศึกพม่ามาตีเมืองถลางและชุมพร เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ รัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่า
เส้นทางที่ทรงยกกองทัพไปนั้นเป็นทางเดียวกับที่นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) พรรณนาไว้ในนิราศนรินทร์คำโคลง คืออกจากกรุงเทพฯ ทางเรือ และไปขึ้นบกที่เพชรบุรี เพื่อเดินเท้าจากเพชรบุรีตรงไปยังเมืองชุมพรทีเดียว ส่วนเส้นทางของนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) นั้น เมื่อออกจากเมืองตะนาวศรี อันเป็นเมืองด่าน ทำให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) อาจจะไปในกองทัพเนื่องในโอกาสนี้เหมือนกัน แต่มิได้ไปพร้อมทัพหลวง อาจจะไปกับทัพหน้าซึ่งส่งไปดูลาดเลาพม่าก่อน จึงไปเมืองตะนาวศรีใกล้ด่านสิงขร ทั้งประวัติศาสตร์ก็มีระบุไว้ว่า สงครามครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ได้ส่งทัพหน้าล่วงไปก่อน อย่างไรก็ตามนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) คงเป็นมหาดเล็กของกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๒ และเป็นผู้แต่งนิราศเรื่องนี้
นอกจากนิราศนรินทร์คำโคลงแล้ว นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ยังแต่งบทกวีย่อยๆ ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันไม่มาก ได้แก่ โคลงยอพระเกียรติในท้ายหนังสือปฐมมาลา อย่างไรก็ตามแม้นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) จะมีผลงานประพันธ์น้อย แต่ความยอดเยี่ยมของนิราศนรินทร์คำโคลงนั้น พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ได้ทรงนิพนธ์ยกย่องไว้ว่า “จะหาโคลงเรื่องใดมาเปรียบได้ยาก” และ “ดีถึงขั้นเป็นอนุสาวรีย์แทนตัวของกวีทีเดียว”
ลักษณะคำประพันธ์
นิราศนรินทร์คำโคลง แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร่ายสุภาพ จำนวน ๑ บท และโคลงสี่สุภาพจำนวน ๑๔๓ บท
๔.๑ ร่ายสุภาพ
ร่ายสุภาพแต่งเป็นวรรค วรรคละประมาณ ๕ คำ หรือมากกว่านั้น และจะแต่งให้ยาวกี่วรรคก็ได้ แต่สามวรรคสุดท้ายก่อนที่จะจบบทจะต้องมีฉันทลักษณ์เป็นโคลงสองสุภาพเสมอ
ส่วนการสัมผัสนั้น คำสุดท้ายของวรรคหน้าจะสัมผัสกับคำที่ ๑,๒ หรือ ๓ ของวรรคต่อไป แต่ถ้าคำสุดท้ายของวรรคหน้าส่งสัมผัสเป็นคำเอกหรือโท คำที่รับสัมผัสในวรรคต่อไป จะต้องเป็นคำเอกหรือโทเช่นเดียวกัน
ร่ายสุภาพ มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้
ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์ เพียงรพิพรรณผ่องด้าว... ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว เลี้ยงทแกล้วให้กล้า พระยศไท้เทิดฟ้า เฟื่องฟุ้งทศธรรม ท่านแฮ
(หมายเหตุ : นิราศนรินทร์คำโคลง ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์มากนัก)
๔.๒ โคลงสี่สุภาพ
โคลงสี่สุภาพ มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้
ตัวอย่าง โคลงสี่สุภาพจากนิราศนรินทร์คำโคลง (บทที่ ๒๑)
จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง คล่าวน้ำตาคลอ
เรื่องย่อ
นิราศนรินทร์คำโคลงเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แล้วกล่าวถึงความเจริญของบ้านเมือง จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่ผ่านไปโดยนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ได้ออกเดินทางจากคลองขุด ผ่านวัดแจ้ง คลองบางกอก (ใหญ่) วัดหงส์ วัดสังข์กระจาย บางยี่เรือ (คลอง) ด่านนางนอง บางขุนเทียน บางบอน บางกก หัวกระบือ โคกขาม คลองโคกเต่า มหาชัย ท่าจีน บ้านบ่อ นาขวาง คลองสามสิบสองคด คลองย่านซื่อแม่กลอง ปากน้ำ(ออกทะเล) บ้านแหลม คุ้งคดอ้อย เพชรบุรี ชะอำ ห้วยขมิ้น ท่าข้าม เมืองปราณ(บุรี) สามร้อยยอด ทุ่งโคแดง (ทุ่งวัวแดง) อ่าวนางรม (อ่าวประจวบ) บางสะพาน ขามสาวบ่าว อู่แห้ง เขาหมอนเจ้า โพสลับ ลับยักษ์ เมืองแม่น้ำ อู่สะเภา หนองบัว แก่งตุ่ม แก่งคุลาตีอก แก่งแก้ว(แก่งแก้วสงสาร) แก่งนางครวญ ปาก(ร่วม)น้ำ เขาเพชร จนถึงตระนาว(ตะนาวศรี) เป็นที่หมายปลายทาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น