นิทานเวตาล
เป็นฉบับพระนิพนธ์พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณมีที่มาจากวรรณกรรมสันสกฤตของอินเดีย โดยเรื่องเดิมมีชื่อว่า เวตาลปัญจวิงศติ (Vetala Panchvim shati แปลว่า นิทาน ๒๕ เรื่องของเวตาล (ปัญจะ = ๕, วิงศติ = ๒๐) ศิวทาสได้แต่งไว้แต่โบราณ และโสมเทวะได้นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่และรวมไว้ในหนังสือชื่อ กถาสริตสาคร (Katha - sarita - sagara) ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒
ต่อมาในระหว่าง ค.ศ. ๑๗๑๙ - ๑๗๔๗ พระราชาแห่งกรุงชัยปุระโปรด ฯ ให้แปลนิทานเวตาลจากฉบับภาษาสันสกฤตเป็นภาษาอื่น ๆ อีก และต่อมามีผู้นำมาแปลเป็นภาษาฮินดี เรียกชื่อเรื่องว่า ไพตาลปัจจีสี (Baital Pachisi) รวมทั้งยังมีการนำมาแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีกแทบทุกภาษา
ผู้แต่ง
พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.)
ลักษณะคำประพันธ์
นิทานร้อยแก้ว มีบทร้อยกรองแทรกบางตอน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
ให้ความบันเทิง และแทรกคติธรรม
ความเป็นมา
กรมหมื่นพิทยาลงกรณได้ทรงแปลนิทานเวตาลจากฉบับของเบอร์ตัน จำนวน ๙ เรื่อง และจากฉบับแปลสำนวนของ ซี.เอช.ทอว์นีย์ อีก ๑ เรื่อง รวมเป็นฉบับภาษาไทยของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ๑๐ เรื่อง นิทานเวตาลมีที่มาจากวรรณกรรมของอินเดียทั้งที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต มักปรากฏรูปแบบนิทานซ้อนนิทานอยู่เป็นจำนวนมาก นิทานเรื่องใหญ่ของนิทานเวตาลเหล่านั้นเป็นนิทานซึ่งแยกออกเป็น ๑๐ เรื่อง มีต้นเรื่องและปลายเรื่องกำกับชี้แจงเหตุเกิดของเรื่อง พฤติกรรมของเวตาลและข้อสรุปซึ่งเต็มไปด้วยสาระ ความรู้ ความสนุกสนาน และยังมีบทร้อยกรองที่แฝงคติธรรมแทรกอยู่โดยตลอด
"ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้เกิดกระเหม่นตาซ้าย หัวใจเต้นแรงแลตาก็มืดมัวเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่ง แลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมาเป็นหลายเที่ยวแล้ว แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่อยากทูลตามสักที ถ้าทรงตอบได้ พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาพระองค์ใด"
เรื่องย่อก่อนถึงนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐
เมื่อ ๒๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ณ เมืองอุชเชนี (อุชชยินี) มีพระราชาทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่เลื่องลือ ทรงพระนามว่า พระวิกรมาทิตย์ ครั้งนั้นมีโยคีตนหนึ่งชื่อศานติศีลผูกอาฆาตพระราชบิดาของพระวิกรมาทิตย์และประสงค์ที่จะเอาชีวิตพระองค์แทน ซึ่งพระวิกรมาทิตย์ทรงพระราชสมภพในวัน เดือน ปี และฤกษ์เดียวกันกับตนเพื่อเป็นการบูชานางทุรคา โดยทำอุบายปลอมตนเป็นพ่อค้านำทับทิมล้ำค่าซ่อนไว้ในผลไม้มาถวายพระวิกรมาทิตย์ทุกวัน พระวิกรมาทิตย์จึงพระราชทานพระอนุญาตให้พ่อค้าทูลขอสิ่งที่ปรารถนาเพื่อเป็นการตอบแทน ศานติศีลจึงเผยตัวว่าตนเองเป็นโยคีและทูลขอให้พระวิกรมาทิตย์ไปจับเวตาลในป่าช้า เพื่อนำมาประกอบพิธีอย่างหนึ่ง และตามสัญญาพระวิกรมาทิตย์จะต้องเสด็จไปกับพระราชโอรสเท่านั้น
เวตาลนั้นสิงอยู่ในซากศพซึ่งแขวนอยู่ที่ต้นอโศก พระวิกรมาทิตย์ต้องทรงปีนขึ้นไปจับตัวเวตาลให้ได้ แต่เวตาลขอสัญญากัพระวิกรมาทิตย์ว่าจะเล่านิทานเป็นปริศนา หากพระองค์ตรัสตอบเมื่อใด เวตาลจะกลับไปยังต้นอโศกทันที เมื่อพระวิกรมาทิตย์ทรงสัญญา เวตาลก็เริ่มเล่านิทานโดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเล่าจบเรื่องก็ถามปัญหา พระวิกรมาทิตย์เพลิดเพลินกับนิทานจนเผลอตอบปัญหา เวตาลจึงลอยกลับไปยังต้นอโศก พระวิกรมาทิตย์ต้องทรงกลับไปจับตัวเวตาลมาอีก เป็นอย่างนี้จนกระทั่งถึงนิทานเรื่องสุดท้ายจึงทรงจับเวตาลและประหารชีวิตโยคี
เรื่องย่อนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐
กล่าวถึงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อกรุงธรรมปุระ พระราชาทรงนามท้าวมหาพล มีมเหสีซึ่งยังเป็นสาวงดงามและมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ต่อมาพระราชาทรงทราบว่าทหารไพร่พลของตนเอาใจออกห่างไปเข้ากับข้าศึก รี้พลของตนย่อยยับไป จึงพาพระมเหสีและพระราชธิดาเสด็จหนีออกจากเมืองมุ่งไปเมืองเดิมของพระมเหสี ระหว่างทางท้าวมหาพลถูกโจรฆ่าตาย พระมเหสีและพระราชธิดาพากันหนีไป จนกระทั่งท้าวจันทรเสนและพระราชบุตรที่เสด็จออกมาล่าสัตว์ในป่า ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าของนางทั้งสองก็เสด็จตามไป และทรงตกลงกันว่าพระราชบุตรจะรับนางที่รอยเท้าเล็กเป็นมเหสีส่วนนางที่เท้าใหญ่ให้เป็นชายาของท้าวจันทรเสน เมื่อติดตามไปพบท้าวจันทรเสนทรงวิวาหะกับนางที่มีรอยเท้าใหญ่ ซึ่งก็คือพระราชธิดา พระราชบุตรทรงวิวาหะกับนางที่มีรอยเท้าเล็ก ซึ่งก็คือพระมเหสีของท้าวมหาพล
เวตาลทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ลูกของท้าวจันทรเสนกับลูกของพระราชาบุตรที่เกิดมาจะเป็นญาติกันอย่างไร แต่ครั้งนี้พระวิกรมาทิตย์ไม่ยอมตรัสตอบพระธรรมธวัชราชบุตรก็ทรงนิ่งเฉย จึงเป็นอันว่าพระวิกรมาทิตย์สามารถนำตัวเวตาลไปได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น