บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณ มีคุณค่า ๒ ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านเนื้อหา และคุณค่าด้านวรรณศิลป์
๑. คุณค่าด้านเนื้อหา ได้แก่ การลำดับความชัดเจน และการสอนจริยธรรม
๑.๑ การลำดับความได้ชัดเจน บทนมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจาริยคุณ เป็นบทร้อยกรองขนาดสั้น มีการลำดับความที่ชัดเจน
บท “นมัสการมาตาปิตุคุณ” จำนวน ๕ บท มีการลำดับความชัดเจน ดังนี้
เกริ่นนำ ปรากฏในบทที่ ๑ กล่าวว่าขอไหว้คุณของบิดามารดาผู้เลี้ยงดูบุตรตั้งแต่
เล็กจนโต
เนื้อหา ปรากฏในบทที่ ๒, ๓ และ ๔ แสดงรายละเอียดว่าบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร
ด้วยความรักและเอาใจใส่ แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม ในบทที่ ๔ มีการใช้ความเปรียบเพื่อเน้นพระคุณของบิดามารดาว่ากว้างใหญ่เหมือนภูผา
สรุป ปรากฏในบทที่ ๕ เป็นการกล่าวย้ำถึงพระคุณบิดามารดา ซึ่งบุตรควรบูชา
บท “นมัสการอาจาริยคุณ” จำนวน ๕ บท มีการลำดับความชัดเจน ดังนี้
เกริ่นนำ ปรากฏในบทที่ ๑ กล่าวว่าขอน้อมไหว้ครูอาจารย์ผู้มรพระคุณ ซึ่งสั่งสอน
และให้ความรู้ศิษย์ทุกประการ
เนื้อหา ปรากฏในบทที่ ๒, ๓ และ ๔ แสดงรายละเอียดถึงหน้าที่ครูอาจารย์ซึ่ง
อบรมสั่งสอนศิษย์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งยังแสดงถึงจิตของครู
ที่ประกอบด้วยความเมตตาและความกรุณา
สรุป ปรากฏในบทที่ ๕ เน้นว่าครูอาจารย์มีพระคุณยิ่งนัก ศิษย์จึงควรบูชาและ
สำนึกในพระคุณ
๑.๒ การสอนจริยธรรม เนื้อหาของบทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณ ทำให้นักเรียนสำนึกในพระคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์ นับเป็นการใช้บทประพันธ์เป็นสื่อเพื่อปลูกฝังจริยธรรมได้เป็นอย่างดี บิดามารดาเป็นบุคคลที่บุตรควรเคารพกราบไหว้มากที่สุด เพราะเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบโต ตลอดระยะเวลานั้นท่านต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก แต่ก็มิได้ทอดทิ้งบุตร ให้ความรักและเอาใจใส่บุตรเป็นอย่างดี บิดามารดาจึงเป็นบุคคลใกล้ชิดบุตรที่สุด บุตรที่ดีจึงควรสำนึกในพระคุณของท่าน ควรเคารพยกย่องและแสดงความกตัญญูต่อท่าน เริ่มจากการทำตัวเป็นคนดี เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านและตั้งใจเรียน
ครูอาจารย์เป็นบุคคลที่นักเรียนควรเคารพบูชาเช่นกันเพราะเป็นผู้ให้ความรู้แก่นักเรียน ทำให้เป็นคนฉลาด นอกจากนี้ ยังอบรมสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดี ซึ่งเป็นการให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ศิษย์ที่ดีจึงควรสำนึกในพระคุณของครูอาจารย์ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและเชื่อฟังครู
การสำนึกในพระคุณบิดามารดาและครูอาจารย์ แล้วปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้สังคมน่าอยู่ บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณจึงนับเป็นสื่อในการสอนจริยธรรมแก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี
๒. คุณค่าด้านภาษา การใช้ภาษาในบท “นมัสการมาตาปิตุคุณ” และบท “นมัสการอาจาริยคุณ” มีความดีเด่น ๒ ประการ ได้แก่ การเล่นเสียงสัมผัส และการสรรคำ
๒.๑ การเล่นเสียงสัมผัส ในที่นี้มีทั้งการเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระ ดังนี้
สัมผัสพยัญชนะ คือ การใช้คำที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกันนำมาสัมผัสกันเพื่อให้เกิดความไพเราะ ตัวอย่างเช่น
“ข้าขอนบชนกคุณ” เล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะได้แก่คำว่า “ข้า” “ขอ” และ “คุณ” , “นบ” กับ “ชนก”
“ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน” เล่นเสียงพยัญชนะได้แก่คำว่า “เทียบ” “เทียม” และ “ทัน”
“อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์” เล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะได้แก่ คำว่า “(อนุ)สาสน์” “สิ่ง” และ “สรรพ์”
สัมผัสสระ คือ การใช้คำที่มีสระเหมือนกันนำมาสัมผัสกันเพื่อให้เกิดความไพเราะ ตัวอย่างเช่น
“ผู้กอบนุกูลพูน” เล่นสัมผัสสระคำว่า “(นุ)กูล” กับ “พูน”
“ตรากทนระคนทุกข์” เล่นสัมผัสสระคำว่า “ทน” กับ “(ระ)คน”
“ต่อพระครูผู้การุญ” เล่นสัมผัสสระคำว่า “นึก” กับ “ตรึก”
๒.๒ การสรรคำ ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำที่ไพเราะทั้งเสียงและความหมายได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นคำที่ง่าย สื่อความหมายชัดเจน ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพแจ่มชัด ดังนี้
“ฟูมฟัก” ทำให้เห็นภาพพ่อแม่ทะนุถนอม ประคับประคองเลี้ยงดูลูกด้วย
ความรักและเอาใจใส่อย่างดี
“ตรากทนระคนทุกข์” เป็นคำที่ทำให้เห็นว่าพ่อแม่ต้องตรากตรำและอดทนทุกสิ่ง
ทุกอย่าง เพื่อเลี้ยงดูลูกให้เติบโต
“ถนอมเลี้ยง” แสดงถึง การเลี้ยงดูลูกอย่างประคับประคองให้ดี เลี้ยงลูกด้วย
ความรักและความปรารถนาดี
“บูชไนย” แผลงมาจากปูชนีย แปลว่า ควรบูชา เพื่อแสดงว่าพ่อแม่เป็น
บุคคลที่ลูกควรบูชา
“ขจัดเขลา” คำนี้แสดงให้เห็นหน้าที่ของครูว่าต้องการทำให้ศิษย์ฉลาด
ปราศจากความไม่รู้เท่าทันในสิ่งต่างๆ
บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณเป็นผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตีพิมพ์รวมอยู่ในงานชุดภาษาไทย เล่ม ๒ ภาคเบ็ดเตล็ด มีเนื้อหาแสดงพระคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์ แต่งด้วยอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ มีคุณค่า ๒ ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านเนื้อหามีการลำดับความที่ชัดเจนเริ่มจากเกริ่นนำ เนื้อหาและสรุป และการสอนจริยธรรม คุณค่าด้านภาษา พบว่าใช้ภาษาที่งดงามมีวรรณศิลป์ ได้แก่ การเล่นเสียงสัมผัสและการสรรคำที่สื่อความหมายชัดเจน บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณนับเป็นสื่อในการปลูกฝังจริยธรรมแก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี
ไม่ทราบว่าอาจาริยคุณคืออาจริยคุณรึป่าวคะ
ตอบลบ