2559-05-10

อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง

วรรณคดีเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
๑. ผู้แต่ง
                เป็นบทละครรำพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์สมบัติ เป็นสมัยที่วรรณคดีเจริญที่สุด วรรณคดีสมัยนี้หลายเรื่องได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของวรรณคดี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครและส่งเสริมให้มีการหัดละคร เล่นละคร ทั้งละครนอกและละครใน ส่วนผลงานของพระองค์ในด้านภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม ก็เป็นที่ประจักษ์เด่นชัดแก่สายตาชาวโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงได้รับเทิดพระเกียรติจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฐานะบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ และทางราชการยังถือเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ คือวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติด้วย
๒.ที่มาของเรื่อง
                อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีที่มาจากนิทานปันหยี ซึ่งเป็นคำสามัญที่ชาวชวาใช้เรียกวรรณคดีที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง คือ อิเหนาปันหยีกรัตปาตี
                วรรณคดีเรื่องอิเหนา มีเนื้อหาเป็นพงศาวดาร แต่งขึ้นเพื่อการเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ชวาพระองค์หนึ่งซึ่งทรงเป็นนักรบ นักปกครอง และทรงสร้างความเจริญให้แก่ชวาเป็นอย่างมาก กษัตริย์พระองค์นี้ทรงพระนามว่า ไอรลังคะ ครองราชย์อยู่ที่เมืองตาฮา (ดาหา) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๑๒ กษัตริย์ไอรลังคะทรงมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ และพระราชโอรส ๒ พระองค์ เมื่อพระราชธิดาออกผนวชเป็นชี กษัตริย์ไอรลังคะจึงทรงแบ่งราชอาณาจักรออกเป็น ๒ ส่วน คือ กุเรปัน และดาหา เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ พระราชโอรสพระองค์โตทรงครองเมื่อกุเรปัน พระราชโอรสพระองค์เล็กครองเมืองดาหา
                ต่อมากษัตริย์กุเรปันทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง และกษัตริย์ดาหาทรงมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงปรากฏพระนามในวรรณคดีว่าอิเหนาและบุษบา เมื่อเจริญพระชันษา พระราชธิดาของอดีตกษัตริย์ไอรลังคะที่เสด็จออกผนวชเป็นชี มีพระดำริให้อิเหนาและบุษบาอภิเษกกัน เพื่อให้กุเรปันและดาหากลับมารวมเป็นราชอาณาจักรเดียวกันดังเดิม
                อิเหนาเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพ ทรงปราบปรามหัวเมืองน้อยใหญ่ให้อยู่ในอำนาจ จนได้ชื่อว่าเป็นมหาราชพระองค์หนึ่งในพงศาวดาร อย่างไรก็ตามราชวงศ์อิเหนารุ่งเรืองอยู่เพียง ๒๐๐ ปี จนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๔ ก็เสื่อมอำนาจเพราะถูกกษัตริย์อังรกะแย่งราชสมบัติและย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ที่เมืองสิงคัสซารี (สิงหัดส่าหรี) แต่ในสมัยต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองมัชปาหิต
                จนถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ ชวาก็ตกอยู่ในอำนาจของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม ภายหลังก็ตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสและฮอลันดา ได้รับเอกราชและสถาปนาเป็นประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒
                ชาวชวาถือว่าอิเหนาเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้มีฤทธิ์ เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาจนกลายเป็นนิทานจึงเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์
                เนื่องจากนิทานปันหยีหรืออิเหนาเป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมจากชาวชวาเป็นอย่างมาก เนื้อเรื่องจึงปรากฏหลายสำนวน และเมื่อเข้าสู่ประเทศไทย มีคำกล่าวกันสืบมาว่า พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับเจ้าฟ้าสังวาล คือ เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎได้ทรงฟังนิทานปันหยีจากนางกำนัลชาวมลายูที่ได้มาจากเมืองปัตตานี พระราชธิดาทั้งสองพระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะทรงนิพนธ์นิทานเรื่องนี้ขึ้น เจ้าฟ้ากุณฑลทรงนิพนธ์เป็นบทละครเรื่องดาหลัง และเจ้าฟ้ามงกุฎทรงนิพนธ์เป็นบทละครเรื่องอิเหนา แต่คนทั่วไปมักเรียกบทพระนิพนธ์ของทั้งสองพระองค์ว่า อิเหนาใหญ่ และอิเหนาเล็ก นิทานปันหยีของไทยจึงมี ๒ สำนวนแต่นั้นมา
                อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อแรกเริ่มสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะโปรดเกล้าฯ ให้นำมาเล่นเป็นละครในทั้งสองเรื่อง แต่เนื่องจากอิเหนาเล็กมีเนื้อเรื่องไม่สับสนเหมือนอิเหนาใหญ่ และชื่อตัวละครก็เรียกไม่ยาก คนทั่วไปจึงนิยมเรื่องอิเหนาเล็กมากกว่า ดังมีหลักฐานเป็นพยานอยู่ในเรื่อง ปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ซึ่งแต่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้กล่าวถึงการเล่นละครในเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาลักนางบุษบาไปไว้ในถ้ำ อันเป็นเนื้อเรื่องของอิเหนาเล็กที่ไม่ปรากฏในเรื่องอิเหนาใหญ่ ดังความที่บรรยายไว้ว่า
                                                “ร้องเรื่องระเด่นโดย                          บุษบาตุนาหงัน
                                พักพาคุหาบรร-                                                   พตร่วมฤดีโลม”
                เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ต้นฉบับบทละครเรื่องดาหลังและอิเหนาซึ่งแต่เดิมแต่งไว้ถึงตอนสึกชี สูญหายไป และไม่ปรากฎว่ามีบทละครเรื่องอิเหนาที่แต่งขึ้นใหม่จึงเข้าใจว่าการเล่นละครเรื่องอิเหนาในสมัยธนบุรีคงใช้บทละครครั้งกรุงเก่าที่จำสืบกันมา
                อย่างไรก็ตาม ในสมัยธนบุรียังมีอิเหนาอีกสำนวนหนึ่งซึ่งเป็นงานนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นหลวงสรชิต ชื่อเรื่องว่า อิเหนาคำฉันท์ แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๒๒ ดำเนินความตามบทละครเรื่องอิเหนาเล็ก พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้ามงกุฎ ตั้งแต่ตอนอิเหนาเผาเมืองดาหาแล้วปลอมเป็นจรกาลักพาบุษบาไปซ่อนในถ้ำ จนถึงอิเหนากลับไปแก้ความสงสัยที่กรุงดาหา
                สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้น โดยทรงพระราชนิพนธ์ซ่อมแซมแปลงบทครั้งกรุงเก่าที่ยังเหลืออยู่เฉพาะตรงตอนที่ขาดหายไป และในสมัยต่อมาพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้นใหม่ ทั้งหมด ด้วยมีพระราชดำริดังปรากฏในคำกลอนท้ายบทละครว่า
“อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง                        สำหรับงานการฉลองกองกุศล
                                ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์                                          แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
                                หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น                                   ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
                                เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้                                 บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”
                เนื่องจากบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งทรงแต่งซ่อมแซมนั้น เนื้อความเข้ากันไม่สนิทกับบทเมื่อครั้งกรุงเก่าและนำมาเล่นละครได้ไม่เหมาะ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขให้สั้นและสอดคล้องกับท่ารำโดยรักษากระบวนความไว้ตามเดิม แล้วพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิทักษ์มนตรีซึ่งทรงเชี่ยวชาญในการละคร ทรงนำไปลองหักซ้อมกระบวนท่ารำตามบทกับครูละคร ก่อนที่จะช่วยกันดัดแปลงเสริมแต่งท่ารำจนเห็นว่างาม เมื่อได้ท่ารำต้องกันกับบทแล้วจึงนำไปซ้อมจนชำนาญ แล้วจึงรำถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อให้มีพระบรมราชวินิจฉัยอีกครั้งเป็นอันสำเร็จ
๓. ลักษณะคำประพันธ์     
บทละครรำเรื่องอิเหนา มีรูปแบบการแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนบทละคร ซึ่งมีลักษณะบังคับเหมือนกลอนสุภาพ แต่วรรคแรกมักขึ้นต้นว่า “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” และ “มาจะกล่าวบทไป” โดยคำว่า “เมื่อนั้น” ใช้กับตัวเอกของเรื่องหรือตัวละครที่เป็นกษัตริย์ คำว่า “บัดนั้น” ใช้กับตัวละครสามัญ และคำว่า “มาจะกล่าวบทไป” ใช้เมื่อขึ้นตอนใหม่หรือเนื้อความใหม่
สำหรับวรรคจำนวนคำในแต่ละวรรค อาจจะมีไม่เท่ากัน เพราะจะต้องให้เหมาะสมกับท่ารำและทำนองเพลง นอกจากนี้ยังต้องมีการกำหนดเพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบกิริยาอาการตัวละคร เช่น เชิด เสมอ เชิดฉิ่ง กราวรำ เป็นต้น และเพลงสำหรับขับร้อง เช่น ร่าย สมิงทรง ชมตลาด นางครวญ เป็นต้น พร้อมทั้งบอกจำนวนคำในบทนั้นด้วย คือ ๒ วรรค เป็นหนึ่งคำกลอน
๔. เนื้อเรื่องย่อ
ดินแดนชวาโบราณ มีกษัตริย์วงศ์หนึ่งเรียกว่า วงศ์อสัญแดหวา หรือวงศ์เทวา กล่าวกันว่าวงศ์นี้มีพี่น้องสี่องค์ องค์พี่ครองเมืองกุเรปัน องค์ที่สองครองเมืองดาหา องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี กษัตริย์วงศ์เทวามีอานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูง จึงอภิเษกกันเฉพาะในวงศ์พี่น้อง นอกจากนี้ทั้งสี่เมืองเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งมเหสีได้ ๕ องค์ ตามลำดับตำแหน่ง คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหราหงี แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองหมันหยาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า กล่าวคือ เจ้าเมืองนี้มีราชธิดาสามองค์ องค์โตชื่อ นิหลาอระตา ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน องค์ที่สองชื่อ ดาหราวาตี ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองดาหา ส่วนองค์สุดท้องชื่อ จินดาส่าหรี ได้อภิเษกกับโอรสท้าวมังกัน และได้ครองเมืองหมันหยา
ท้าวกุเรปันมีโอรสองค์แรกกับลิกู ชื่อว่า กะหรัดตะปาตี ต่อมามีพระโอรสกับประไหมสุหรีเป็นหนุ่มรูปงามและเก่งกล้าสามารถมาก ชื่อ อิเหนา หรือระเด่นมนตรี และมีพระธิดาชื่อ วิยะดา ส่วนท้าวดาหามีพระธิดากับประไหมสุหรีชื่อ บุษบา และมีโอรสชื่อ สียะตรา บุษบามีอายุไล่เลี่ยกับอิเหนา ท้าวกุเรปันจึงหมั้นบุษบาให้กับอิเหนา และสียะตราก็หมั้นหมายกันไว้กับวิยะดา
                ส่วนระตูหมันหยากับประไหมสุหรีก็มีพระราชธิดาชื่อ ระเด่นจินตะหรา อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรีมีโอรสชื่อ ระเด่นสุหรานากง ราชธิดาชื่อ ระเด่นจินดาส่าหรี ท้าวกาหลังมีราชธิดาชื่อ ระเด่นสกาหนึ่งหรัด ซึ่งเป็นคู่ตุนาหงันกับสุหรานากง
เมื่อพระอัยกาเมืองหมันยาสิ้นพระชนม์ ท้าวกุเรปันมอบหมายให้อิเหนาไปร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกะหรัดตะปาตี อิเหนาพบจินตะหราก็หลงรัก จนพิธีเสร็จก็ไม่ยอมกลับ ท้าวกุเรปันจึงอ้างว่าประไหทสุหรีจะมีประสูติกาลให้กลับมาเป็นกำลังใจ อิเหนาจึงจำใจกลับมาประจวบกับพระราชมารดาประสูติพระราชธิดา ชื่อ ระเด่นวิยะดา
อย่างไรก็ตาม อิเหนายังหาทางกลับไปเมืองหมันหยาอีก โดยอ้างว่าจะไปประพาสป่าแล้วปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสารปันหยี ระหว่างทางได้รบกับ ระตูบุศสิหนา น้องชายสุดท้องของ ระตูปันจะรากัน และ ระตูปักมาหงัน ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ น้องชายสุดท้องของ ระตูปันจะรากัน และระตูปักมาหงัน ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ นางดรสา ซึ่งเพิ่งเข้าพิธีอภิเษกกับระตูบุศสิหนาจึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามพระสวามี ส่วนระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงันยอมแพ้ และถวายพระธิดาและพระโอรสให้อิเหนา คือ นางสการะวาตี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาได้ ก็ลักลอบเข้าหานางจินตะหรา แล้วได้สองนางคือ นางสการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา และรับสังคามาระตาเป็นน้องชาย
ท้าวกุเรปันเรียกอิเหนากลับเมืองถึงสองครั้ง พร้อมทั้งนัดวันอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบา แต่อิเหนาไม่ยอมกลับและสั่งความตัดรอนนางบุษบา ท้าวกุเรปันและท้าวดาหาทราบเรื่องก็ขัดเคืองพระทัย ท้าวดาหาถึงกับหลุดปากว่าถ้าใครมาขอบุษบาก็จะยกให้
                ฝ่ายจรการะตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง และเป็นอนุชาของท้าวล่าสำ (ท้าวล่าสำผู้นี้มีธิดา คือระเด่นกุสุมา เป็นคู่หมั้นของสังคามาระตา) จรกาเป็นชายรูปชั่วตัวดำ แต่อยากได้ชายารูปงาม จึงให้ช่างวาดไปแอบวาดภาพราชธิดาของกษัตริย์เมืองสิงหัดส่าหรี คือนางจินดาส่าหรี ครั้นทราบข่าวว่านางบุษบาสวยงามมากจึงให้ช่างวาดภาพแอบวาดภาพนางบุษบาอีก ช่างวาดภาพแอบวาดภาพได้ ๒ ภาพ คือ ตอนนางบุษบาเพิ่งตื่นบรรทมและภาพที่แต่งองค์เต็มที่ ขณะเดินทางกลับ องค์ประตาระกาหลาบันดาลให้รูปนางบุษบาที่ทรงเครื่องตกหายไป จรกาได้เห็นภาพที่เพิ่งตื่นบรรทมเท่านั้นก็หลงใหล ถึงกับสลบไปทันที เมื่อได้ข่าวจากช่างวาดภาพว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน จึงรีบให้ท้าวล่าสำ ซึ่งเป็นพี่ชายมาสู่ขอบุษบา ท้าวดาหากำลังโกรธอิเหนาอยู่ แม้จะรู้ว่าจรการูปชั่วต่ำศักดิ์ แต่เมื่อพลั้งปากว่าใครมาขอจะยกให้ จึงจำใจยกนางบุษบาจรกาและกำหนดการวิวาห์ภายในสามเดือน
                กล่าวถึงกษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง องค์พี่ครองเมืองกะหมังกุหนิง มีพระโอรสชื่อวิหยาสะกำ องค์รองครองเมืองปาหยัง มีพระธิดา ๒ พระองค์ คือ นางรัตนาระติกา และรัตนาวาตี องค์สุดท้องครองเมืองปะหมันสลัด มีพระโอรสชื่อ วิหรากะระตา มีพระธิดาชื่อ บุษบาวิลิศ
                อยู่มาวิหยาสะกำโอรสท้าวกะหมังกุหนิงเสด็จประพาสป่า พบภาพวาดของนางบุษบาทรงเครื่องที่หายไปก็คลั่งไคล้ใหลหลงถึงกับสลบเช่นกัน ท้าวกระหมังกุหนิงรักและเห็นใจโอรสมากจึงให้คนไปสืบว่านางในภาพเป็นใครแล้วก็ให้แต่งทูตไปขอนางบุษบา แต่ถูกท้าวดาหาปฏิเสธ เพราะได้ยกให้ระตูจรกาไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงทำให้เกิดศึกชิงนางขึ้นชื่อว่าศึกกะหมังกุหนิง
เนื้อเรื่องย่ออิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงส่งทูตไปขอบุษบา แต่ได้รับการปฏิเสธจากท้าวดาหาจึงเตรียมจัดทัพยกไปตีเมืองดาหาโดยให้พระอนุชา คือ ระตูปาหยัง และระตูประหมัน รวมทั้งหัวเมืองทั้งปวงยกทัพมาช่วย ท้าวกะหมังกุหนิงให้วิหยาสะกำเป็นทัพหน้า พระอนุชาทั้งสองเป็นทัพหลัง ส่วนพระองค์เป็นจอมทัพ แต่ก่อนที่จะยกไปนั้น โหรทำนายว่าดวงชะตาของท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำนั้นถึงฆาต ถ้ายกทัพไปในวันรุ่งขึ้นจะพ่ายแพ้ต่อศัตรู ควรงดทำศึกไปก่อน ๗ วัน จึงจะพ้นเคราะห์ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่เปลี่ยนพระทัย
ฝ่ายท้าวดาหาได้ขอความช่วยเหลือไปยังท้าวกุเรปัน ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวกุเรปันส่งราชสารไปให้อิเหนายกทัพไปช่วยท้าวดาหาทำศึก อีกฉบับส่งไปให้ระตูหมันหยาโดยตำหนินางจินตะหราว่าเป็นสาเหตุให้อิเหนาตัดรอนนางบุษบา ส่งผลให้เกิดศึกสงครามขึ้น ระตูหมันหยารู้สึกผิดจึงรีบให้อิเหนายกทัพไปเมืองดาหา ส่วนท้างกาหลังให้ตำมะหงงกับดะหมังคุมทัพมาช่วย ท้าวสิงหัดส่าหรีส่งสุหรานากงผู้เป็นราชโอรสมาช่วยรบ เมื่อทัพที่จะช่วยเมืองดาหารบมากันครบแล้ว อิเหนาจึงมีบัญชาให้จัดเตรียมรบกับทัพท้าวกะหมังกุหนิง
ครั้นทัพทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน สังคามาระตาเป็นคู่ต่อสู้กับวิหยาสะกำและสังหารวิหยาสะกำได้ ท้าวกะ หมังกุหนิงเห็นโอรสถูกสังหารตกจากม้าก็โกรธ ขับม้าเข้าไล่ล่าสังคามาระตา อิเหนาจึงเข้าสกัดและต่อสู้กับท้าวกะ หมังกุหนิง ทั้งสองฝีมือทัดเทียมกันทั้งเพลงหอกและกระบี่ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายกระบวนเพลง ในที่สุดอิเหนาก็ใช้กริชสังหารท้าวกะหมังกุหนิงได้  ระตูปาหยังและระตูประหมันยอมอ่อนน้อมต่ออิเหนา และจะขอส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามประเพณี อิเหนาจึงอนุญาตให้นำศพท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำกลับไปทำพิธี
๕. คุณค่าของงานประพันธ์
                ๕.๑ วรรณคดีสโมสรยกย่องบทละครเรื่องอิเหนาว่าเป็นยอดของกลอนบทละคร เพราะมีเนื้อเรื่องสนุกครบทุกรส ทั้งบทรัก กล้าหาญ หึงหวง บทบาทของตัวละครมีความเหมาะสม
                ๕.๒ ให้ความรู้เกี่ยวกับคนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น การป้องกันบ้านเมือง การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนความเชื่อของคนสมัยนั้น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
                ๕.๓ สอดแทรกคติธรรมและข้อคิดต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตของมนุษย์ขึ้นว่า ผลต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวละครนั้นล้วนมาจากเหตุอันเป็นการกระทำของตัวละครนั้นเองทั้งสิ้น
                ๕.๔ คุณค่าในด้านนาฏการของบทละครเรื่องอิเหนา คือ งามทั้งท่ารำ เครื่องแต่งกายของตัวละครไพเราะทั้งคำร้องและทำนองเพลง วงดนตรีไทยหรือวงมโหรีนิยมนำเนื้อความจากวรรณคดีเรื่องอิเหนาไปขับร้องด้วยทำนองเพลงต่างๆ หลายเพลง ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของนักดนตรี นักร้อง และ นักดนตรีไทยเป็นอย่างมาก
๖. ความรู้เพิ่มเติม
                ๖.๑ ละครนอก เป็นละครที่สามัญชนเล่นกันเพื่อความสนุกสนาน ตัวละครใช้ชายแสดงล้วนๆ ท่ารำและคำร้องเป็นแบบง่ายๆไม่ประณีต เน้นความสนุกสนานเป็นสำคัญ ละครนอกใช้บทละครในการแสดงได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท และ อิเหนา
                ๖.๒ ละครใน  เป็นละครที่เล่นกันในวัง ใช้ผู้หญิงแสดงล้วนๆ ท่าทางงดงาม อ่อนช้อย เครื่องแต่งกายงดงาม คำร้องและทำนองเพลงไพเราะ
                ๖.๓ พี่เลี้ยงของนางบุษบา มี ๔ คน คือ บาหยัน  ซ่าเหง็ด  ประเสหรัน  ปะลาหงัน
                ๖.๔ พี่เลี้ยงของอิเหนา มี ๔ คนคือ ปูนตา การะตาหรา ประสันตา  ยะรุเดะ
                ๖.๕ มเหสีของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวา มี ๕ ตำแหน่ง คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู เหมาหลาหงี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น