2559-05-10

วิเคราะห์คุณค่านิทานเวตาลเรื่องที่10

การวิเคราะห์คุณค่าจากเรื่องนิทานเวตาลเรื่องที่ ๑๐
                                นิทานเวตาลมีคุณค่า ๓ ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านข้อคิด คุณค่าด้านภาษา และคุณค่าด้านวัฒนธรรม
                                ๑. คุณค่าด้านข้อคิด นิทานเวตาลมีคุณค่าด้านข้อคิด ๒ ประการ ได้แก่ ผลเสียของสงครามและการด่วนตัดสินโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ
                                ๑.๑ ผลเสียของสงคราม สงครามทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตดังจะเห็นได้จาก การที่นายทหารและไพร่พลของท้าวมหาพลเห็นแก่อามิสสินบนฝ่ายศัตรูจึงทำให้เสียบ้านเมือง ไพร่พลของท้าวมหาพลต้องตายในการศึกสงคราม จนในที่สุดรี้พลของท้าวมหาพลร่อยหรอย่อยยับไป แม้กระทั่งท้าวมหาพลเองก็ต้องพาพระมเหสีและพระราชธิดาหนีออกจากกรุง ทำให้พระองค์ถูกโจรฆ่าชิงทรัพย์
                                ๑.๒ การด่วนตัดสินโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ การด่วนตัดสินใจ โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ ทำให้เกิดปัญหา ผู้ปกครองจึงควรมีสติและวิจารณญาณ  ดังที่พระราชาจันทเสนและพระราชโอรสเห็นรอยเท้าของนางทั้งสอง และสรุปว่ารอยเท้าเล็กต้องเป็นของนางผู้มีอายุน้อย ส่วนรอยเท้าใหญ่ต้องเป็นของผู้มีอายุมากกว่า นับว่าเป็นการคาดคะเนที่ผิด อันนำไปสู่ปัญหาในภายหลัง ดังปรากฏในเรื่องว่า แลเพราะเหตุที่คาดขนาดเท้าผิด ลูกกลับเป็นเมียพ่อ แม่กลับเป็นเมียลูก ลูกกลับเป็นแม่เลี้ยงของผัวแม่ตัวเอง แลแม่กลับเป็นลูกสะใภ้ของผัวแห่งลูกตน แลต่อมาบุตรแลธิดาก็เกิดจากนางทั้งสอง แลบุตรแลธิดาแห่งนางทั้งสองก็มีบุตรและธิดาต่อๆ กันไป
                                ๒. คุณค่าด้านภาษา  น.ม.ส. ทรงแปลนิทานเวตาลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยใช้สำนวนภาษาของตนเอง ซึ่งมีลักษณะดังนี้
                                ๒.๑ การใช้ภาษาที่อ่านง่าย กระชับ เป็นการเลือกใช้ถ้อยคำที่มีความหมายชัดเจน โดยไม่มีคำศัพท์ที่ต้องแบ่งหรือตีความ เช่น
                                สองนางพระองค์สั่นพากันหนีห่างออกไปจากหมู่บ้านโจร ทางจะไปทางไหนหาทราบไม่ ความมุ่งมาดมีอยู่แต่ว่าจะหนีให้พ้นมือพวกภิลล์ซึ่งเป็นคนชาติต่ำช้าเท่านั้น
                                ครั้นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงกระทำสัญญาแบ่งนางกันดังนี้แล้ว ก็ทรงชักม้าตามรอยเท้านางเข้าไปในป่า สักครู่หนึ่งเห็นสองนางนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ กษัตริย์สององค์ก็เสด็จลงจากม้าเข้าไปถามนางทั้งสององค์ก็เล่าเรื่องให้ทรงทราบทุกประการ
                                ๒.๒ การสร้างอารมณ์ขัน เป็นลักษณะเด่นของนิทานเวตาล ซึ่งทำให้น่าสนใจและชวนอ่าน ส่วนใหญ่เป็นคำพูดของเวตาลที่ต้องการยั่วพระวิกรมาทิตย์ เช่น
                                ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้เกิดกระเหม่นตาซ้ายหัวใจเต้นแรง  แลตาก็มืดมัวเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว  แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่งแลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมาเป็นหลายเที่ยวแล้ว  แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง  ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่อยากทูลถามสักที  ถ้าทรงตอบได้พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาพระองค์ใด
                                ครั้งนี้แม้แต่กระแอม  พระวิกรมาทิตย์ก็ไม่ทรงกระแอม  เวตาลจึงกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อพระองค์ทรงจนปัญญาถึงเพียงนี้แล้ว  บางทีพระราชบุตรซึ่งทรงปัญญาเฉลียวฉลาดจะทรงแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง แต่พระธรรมธวัชพระราชบุตรนิ่งสนิททีเดียว
                                ๒.๓ การใช้ประโยคสมดุลกัน คือวางข้อความซ้ำและขนานความกันไป เช่น
                                ท้าวมหาพลเห็นจะรักษาชีวิตพระองค์ไว้ไม่ได้ด้วยวิธีรบ ก็คิดจะรักษาด้วยวิธีหนี
                                ข้าศึกมีกำลังมากแลชำนาญการศึกใช้ทั้งทองคำแลเหล็กเป็นอาวุธ  คือ  ใช้ทองคำซื้อน้ำใจนายทหารและไพร่พลของพระราชาให้เอาใจออกห่างจากพระองค์  แลใช้เหล็กเป็นอาวุธฆ่าฟันคนที่ซื้อน้ำใจไม่ได้
                                ๒.๔ การใช้คำซ้อน มีดังนี้
                                จนในที่สุดรี้พลของท้าวมหาพลหรอร่อย ย่อยยับไป
                                พวกโจรเข้ากลุ้มรุมรบพระราชา
                                ความมุ่งมาดมีอยู่แต่ว่าจะหนีให้พ้นมือพวกภิลล์ซึ่งเป็นคนชาติต่ำช้าเท่านั้น


                                ๓. คุณค่าด้านวัฒนธรรม นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นวัฒนธรรมเรื่องการนับญาติซึ่งเป็นปมปัญหาที่เวตาลนำมาถามพระวิกรมาทิตย์ แต่การนับญาติในนิทานเรื่องนี้เกิดจากการสลับคู่ผิดไปจากระเบียบแบบแผนที่ปฏิบัติกันในสังคม อย่างไรก็ดี การนับญาติที่เป็นปัญหานี้กลับเป็นปริศนาที่ชวนให้ขบคิด และไม่น่าจะมีคำตอบที่แน่ชัด ดังจะเห็นได้ว่าการที่พระวิกรมาทิตย์ไม่ทรงตอบเวตาลเพราะทรงตีปัญหาไม่ได้ อีกทั้งเวตาลเองก็ดูเหมือนจะตั้งใจถามคำถามที่ไม่มีคำตอบนี้ดังปรากฏตั้งแต่ตอนต้นเรื่องว่า ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้เกิดกระเหม่นตาซ้ายหัวใจเต้นแรงแลตาก็มืดมัวเป็นลางไม่ดีเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่ง แลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมา เป็นหลายเที่ยวแล้ว แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่ยาก ทูลถามสักที ถ้าทรงตอบได้ พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาพระองค์ใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น